ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : เปิดปม ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา บิ๊กแป๊ะ ทุจริตรถตรวจการณ์อัจฉริยะ

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ มีความคืบหน้า ปมจัดซื้อรถตรวจการณ์อัจฉริยะ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. มีมติตั้งองค์คณะใหญ่ไต่สวน และล่าสุด มีมติแจ้งข้อกล่าวหา พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว อะไรเป็นสาเหตุให้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ติดตามกับคุณสุธาทิพย์ ผาสุข 

เป็นอีก 1 คดี ที่ คอลัมน์หมายเลข 7 เกาะติดมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อ โครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ จำนวน 260 คัน วงเงินงบประมาณเกือบ 900 ล้านบาท ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. โดยใช้งบประมาณต่อเนื่อง 2 ปี คือปี 2560-2561

และในปี 2562 มีการยื่นเรื่องร้องเรียนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก ซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 ปี กว่า ป.ป.ช. จะมีมติตั้งองค์คณะใหญ่ขึ้นมาไต่สวน พลตำรวจเอก จักรทิพย์ กับพวก 46 ราย และต้องใช้เวลาอีกเกือบ 1 ปี ก่อนที่องค์คณะใหญ่จะมีมติ 8 ต่อ 1 ให้แจ้งข้อกล่าวหา พลตำรวจเอก จักรทิพย์ แล้ว

คอลัมน์หมายเลข 7 เจาะข้อมูลเพิ่มเติม พบปมปัญหาที่ทำให้องค์คณะไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหา มี 3 ปมใหญ่ คือ การใช้งบประมาณที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ มีการเพิ่มวงเงินโครงการจัดซื้อรถ ไปจนถึงล็อกสเปกเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านสมาร์ตคาร์

ส่วนเงินงบประมาณที่ใช้นั้น เป็นเงินที่เก็บจากค่าธรรมเนียมตรวจคนเข้าเมือง ที่นำมาใช้เสริมเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายที่ชัดเจน จึงต้องรอดูว่า พลตำรวจเอก จักรทิพย์ จะนำข้อมูลใดมาหักล้างข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช. แจ้งไป

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ จากการตรวจสอบของคอลัมน์หมายเลข 7 พบว่า หลังการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ ในทางปฏิบัติ รถยนต์เหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า

โดยเดิมทีเริ่มต้น รถอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ด้วยราคาที่แพง ไม่มีประกันภัย ไม่มีงบเติมน้ำมัน หรืองบจัดซ่อมบำรุง รวมทั้งระบบเชื่อมต่อที่เหมาะสม จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สะดวกใจที่จะใช้งานรถยนต์ราคาแพงเหล่านี้ แม้ว่าในระยะเริ่มแรก ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะระดมเงินจัดซื้อประกันรายปีให้ใช้ชั่วคราว

แต่ด้วยภายใต้เงื่อนไข ที่จะต้องส่งรถมาที่สำนักงานเท่านั้น และหากเกิดเหตุในพื้นที่ไกล ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการนำรถจากที่เกิดเหตุ จึงทำให้สุดท้าย รถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ ไม่ได้ถูกใช้งานในการปฏิบัติหน้าที่

กระทั่งต่อมาในปี 2563 รถยนต์จำนวน 260 คัน ก็ถูกกระจายไปให้ตำรวจนครบาล นำไปใช้งานทุกโรงพัก แต่หลังได้รับมอบให้นำมาใช้งาน ก็มีสภาพไม่ต่างจากการใช้งานในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นั่นคือจอดนิ่งสนิท

แต่ที่ไม่นิ่งในเวลานี้ คือ คดีความที่กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการติดต่อสอบถาม พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ผู้ถูกกล่าวหา เปิดเผยกับคอลัมน์หมายเลข 7 ว่า ได้รับทราบเรื่องแล้ว และไม่กังวลใจอะไร พร้อมที่จะชี้แจงตามกระบวนการ

แม้ในขณะนี้ จะยังไม่มีใครรู้บทสรุปสุดท้ายว่าจะจบอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนแล้ว และปฏิเสธได้ยาก นั่นคือ เงินงบประมาณเกือบ 900 ล้านบาท ถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่า รถราคาแพงที่คิดว่าจะตอบโจทย์การใช้งาน สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกใช้งาน

จึงเป็นอีก 1 ตัวอย่างของการจัดซื้อจัดจ้างราคาแพง ที่ตามมาด้วยคำถามว่า เบื้องหลังของโครงการมีส่วนของเงินทอนให้ผู้บังคับบัญชา ส่วนผู้ปฏิบัติก็รับมาแต่กลับไม่ได้ใช้งานจริงหรือไม่ 

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark