ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : งบไม่พอ! นำคนไทยกลับบ้านส่อสะดุด เจอกลโกงเบี้ยวหนี้

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 พบข้อมูลความเสี่ยงของคนไทยที่อาจจะไปตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่กรมการกงสุล กำลังเจอปัญหาไม่ผ่อนผันชำระหนี้ และกลยุทธ์การโกง ปลอมสลิปการโอนเงิน ติดตามกับคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

นี่เป็นภาพนาทีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500 ของกองทัพอากาศ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังลำเลียงผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีกลับประเทศไทย และแพทย์ประจำทีม ช่วยกันนำอุปกรณ์เข้าระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที

มีข้อมูลว่าในแต่ละปี คนไทยเดินทางออกไปทำงานที่ต่างประเทศ รวมถึงท่องเที่ยว และเรียนหนังสือมากกว่า 1.4 ล้านคน แต่ที่น่าสนใจคือเกือบครึ่งของตัวเลขเหล่านี้ ต้องเจอกับปัญหาตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่เอกสารหาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน ไปจนถึงต้องคดี ถึงขั้นต้องติดคุกติดตาราง ทั้งในข้อหาลักลอบเข้าประเทศ ไปจนถึงการเข้าไปค้าประเวณี

ทุกปี กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะได้รับเงินงบประมาณจากรัฐ ให้เข้าไปแก้ปัญหา นำพาคนไทยเหล่านี้กลับมายังบ้านเกิด วงเงินอย่างน้อย 20 ล้านบาท แต่หากเทียบกับสัดส่วนของคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ต้องบอกว่าห่างไกลกันเหลือเกิน

และที่เป็นปัญหาสำคัญ คือเม็ดเงินกองกลางที่ต้องใช้สำหรับช่วยเหลือของกรมการกงสุลในแต่ละปี ขณะนี้เหลือไม่ถึง 30%

ปัญหาที่น่ากังวลใจไม่น้อยไปกว่าเม็ดเงินที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน คือการถูกหลอกให้ไปทำงานซึ่งขณะนี้มีจำนวนมาก โดยเฉพาะ 3 ประเทศในแถบเอเชีย คือกัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย

ล่าสุดยังพบว่ามีคนสมองใส เล่นตุกติกกับกระบวนการคืนเงิน โดยการปลอมแปลงสลิปการโอนเงินคืนให้แก่กรมการกงสุล ซึ่งกว่าที่แผนกการเงินจะตรวจสอบพบ ก็กินเวลาร่วมเดือน

เงินมีน้อยอยู่แล้ว ยังถูกเบียดบังจากคนไม่ซื่อ กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับเจ้าหน้าที่ สุดท้ายก็ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษ ไม่ต่างจากคนที่กู้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. แล้วเบี้ยวหนี้ ควบคู่ไปกับการวางมาตรการป้องกันเพิ่มเติม เริ่มจากการร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้แบบฟอร์มในการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ แบบฟอร์มเดียว เพื่อร่วมกันตรวจสอบการคัดแยกเหยื่ออย่างจริงจัง เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมา แต่ละหน่วยต่างคนต่างทำงาน ทำให้ไม่มีข้อมูลที่เป็นเอกภาพ จึงยากต่อการติดตามเอาผิด กรณีมีการกระทำผิดกฎหมายในต่างประเทศ และยังกลายเป็นประเด็นที่สหรัฐอเมริกา ตั้งคำถามกับประเทศไทยในการจัดการกับการปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

การช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างแดนแต่ละครั้ง มีราคาที่ต้องจ่ายแตกต่างกันไป ดังนั้นคนที่เดือดร้อน คงคิดหวังพึ่งพิงภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีจิตสำนึกในการคืนเงินเพื่อให้เงินเหล่านั้นหมุนเวียนกลับมาช่วยเหลือคนไทยคนอื่น และจะดีที่สุดคือ อย่าไปอยู่ต่างแดนโดยผิดกฎหมาย เพราะท้ายสุด การกลับเมืองไทยรอบหน้า อาจเป็นแค่ร่างที่ไร้วิญญาณ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark