ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

รู้เรื่องเมืองไทย Siam Insight : มัสยิด 400 ปี สถาปัตยกรรมโบราณ

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ชายแดนภาคใต้ของไทย มีมัสยิดเก่าแก่อายุ 400 ปี ที่ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมในอดีตได้อย่างลงตัว และปัจจุบันก็ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ และยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวมลายูชายแดนใต้ ติดตามในรู้เรื่องเมืองไทย Siam insight จากคุณอรรถพล ดวงจินดา

เสียงละหมาดผ่านเครื่องขยายเสียง ดังมาแต่ไกลจากมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือ มัสยิด วาดีลฮูเซ็น มัสยิดแห่งนี้ สวยเด่นเป็นสง่าอยู่หลังเชิงเขาบูโด ในตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ที่อายุกำลังจะก้าวครบ 400 ปี ในปี 2567 ที่จะถึงนี้

โดยที่นี่ยังคงเปิดให้ชาวไทยมุสลิม เข้าไปประกอบศาสนากิจตามหลักศาสนาอิสลามทุกวัน ที่สำคัญตัวมัสยิด ก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ กลายเป็น สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าของโลกมลายูและคนชายแดนใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ต่างสนใจเข้าเที่ยวชมไม่ขาดสาย

มัสยิด "ตะโละมาเนาะ" สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัดและแปลกตา คือโครงสร้างอาคารทั้ง 2 หลังนี้ ซึ่งหลังแรกมี 3 ชั้น เป็นโดมรูปเก๋งจีนแท้อยู่บนหลังคา เป็นหออาซาน สำหรับขึ้นไปเรียกละหมาดในอดีต หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนอีกอาคาร มี 2 ชั้น ชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาด่านล่าง อีกชั้นเป็นปลายปั้นลมแบบมลายูตรังกานู รัฐทางเหนือของมาเลเซีย ฝาผนังและเสาถูกแกะสลักลวดลายบนเนื้อไม้ ทั้งลายลูกฟัก ลายดอกพิกุล ลายดอกนกแมว ลายฉลุ ลายอาหรับ และลวดลายซัวติกะ ทั้งหมดล้วนผสมผสานสถาปัตยกรรม เป็นอารยธรรม ไทย จีน และมลายู เข้าด้วยกัน

มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2167 โดยไม่มีการใช้ตะปูตอกไม้เลย และสถานที่ตั้ง ยังยึดหลักตามฮวงจุ้ยชาวจีน คือ หน้าติดนา ข้างติดน้ำ และหลังติดภูเขา ทำให้มีความสวยงามโดดเด่น ย้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต ที่เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรปาตานี และเอเซียอาคเนย์ จนกลายเป็นสิ่งล้ำค่า และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในพื้นที่มาแล้วในหลายยุคหลายสมัย ซึ่งทุกวันนี้ ชุมชนยังได้รับอานิสงฆ์ไปด้วย กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวยลวิถี

ปัจจุบันมัสยิดเก่าแก่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีสภาพสมบูรณ์ เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ชาวบ้านและหน่วยงานจึงร่วมกันอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณให้คงอยู่

อีกทั้งเป็นการบอกต่อเก็บรักษาเรื่องราวและเรื่องเล่า ทำให้ที่นี่ยังคงทรงคุณค่า อยู่คู่คนชายแดนใต้มาแล้วเกือบ 400 ปี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark