ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

หมอเตือนคนแก่ กินยาแก้แพ้เยอะ เสี่ยงสมองพัง


หมอธีระวัฒน์ เตือนคนสูงอายุ ยาแก้แพ้ แก้เวียน เมารถ เมาเรือ กินเยอะเสี่ยงสมองพัง ชี้ ยากลุ่มนี้ฤทธิ์มีผลทำให้สมองเฉื่อยชา ควรกินเท่าที่จำเป็น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" เตือน ผู้สูงอายุ แก่แล้วกินยาแก้แพ้ อาจทำสมองพัง โดยระบุว่า ยาแก้แพ้ แก้เวียน เมารถ เมาเรือ ยาหดหู่ ซึนมยาลดปัสาวะบ่อย ยาเหล่านี้นอกจากเรื่องแพ้ เวียนหัว บ้านหมุน ยังนำมาใช้เป็นยานอนหลับเฉพาะกิจ และยังมีสรรพคุณลดอาการสั่นที่เจอในโรคพาร์กินสันได้ดีพอสมควร

ฤทธิ์สำคัญคือต้านระบบ Cholinergic (Anti-cholinergic, AC) ดังนั้น อาจมีปากแห้ง น้ำลาย น้ำตาแห้งร่วม บางรายที่มีปัญหาเรื่องปัสสาวะ ก็อาจจะต้องเบ่ง และอาจมีผลกระทบเรื่องความดันสูงในลูกตา โดยเฉพาะคนเป็นต้อหิน มีการจัดอันดับความแรง (Anticholinergic burden score) เป็น 1-2-3 โดยแรงมากคือ เบอร์ 3 ที่ถูกจัดเป็นแรงมาก เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้เวียน Chlorpheniramine Dimenhydrinate (Dramamine) Diphenhydramine (Benadryl) Meclizineยาอารมณ์ดีด้านเศร้า เช่น doxepin nortriptyline ยาช่วยอาการปัสสาวะลำบากหรือผิดปกติรวมทั้งช้ำรั่ว เช่น Darifenacin Oxybutynin Tolterodine (Detrusitol) Trospium Solifenacin

เริ่มอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2005 มีการตั้งข้อสังเกตว่า ยากลุ่มต่างๆที่มีฤทธิ์ AC นี้จะมีผลทำให้สมองเฉื่อยชาไม่แล่น การศึกษามาจากกลุ่ม Alzheimer’ s Disease Neuroimaging Initiative (วารสารสมาคมแพทย์อเมริกันทางประสาทวิทยาปี 2016) ทั้งนี้ มีกลุ่มในการศึกษาที่ไม่ได้ใช้ยากลุ่มต้าน Cholinergic (แทนด้วย AC-) 350 ราย และกลุ่มที่ใช้ยา AC ในระดับฤทธิ์ 2 และ 3 (AC+) 52 ราย ลักษณะประจำกลุ่มที่คล้ายคลึงกันคือ อายุเฉลี่ย 73 ปี ผู้ชาย ผู้หญิงใกล้เคียงกัน ระดับการศึกษาพอกัน มียีนอัลไซเมอร์ (28% AC+ เทียบกับ 25% ใน AC-) เป็นคนขาว (84.6 ต่อ 94.2%) ปริมาณชนิดของยาที่ใช้ประจำใกล้กัน ทั้งสองกลุ่มนี้มีไม่มากนักที่เคยเป็นอัมพฤกษ์ โรคหัวใจ หรือเคยผ่าตัดหัวใจ เส้นเลือด หรือเป็นเบาหวาน รวมทั้งเป็นโรคนอนกรน อากาศไม่เข้าสมอง (ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงสมองเสื่อม) หัวใจเต้นระริก AF ซึ่งจะมีลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดสมอง โรคซึมเศร้า กังวล นอนไม่หลับ รวมทั้งสมาธิสั้น โรคจิต และอุบัติเหตุสมอง
ที่มีเยอะใกล้กันทั้ง 2 กลุ่มคือ มีความดันสูง ไขมันสูง ประมาณกึ่งหนึ่ง และทั้งสองกลุ่มถนัดขวาเป็นส่วนมาก

การติดตามสมองมีทั้งการประเมินพุทธิปัญญา (Cognitive scores) การตรวจดูเมตาบอลิซึมของสมองด้วยเครื่อง PET scan (FDG) ดูการใช้กลูโคสของสมอง รวมทั้งดูความเหี่ยวฝ่อของสมอง โดยใช้คอมพิวเตอร์สมองสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยมีการวัดขนาดปริมาตรของสมองแต่ละส่วนอย่างละเอียดเป็นระยะ

จากการติดตาม 96 เดือน ผลปรากฏว่า กลุ่ม AC+ มีความฝ่อของสมองทั้งปริมาตร เปลือกสมองและบริเวณกลีบขมับ (ควบคุมความจำ) และเนื่องจากสมองฝ่อเลยทำให้มีช่องโพรงน้ำในสมองกว้างขึ้น (Lateral และ Inferior lateral ventricle volumes) รวมทั้งมีการทำงานถดถอยจากการตรวจสมองด้วย PET Scan การตรวจทางพุทธิปัญญามีทั้งความจำ การทำงานด้านการจัดการ (Executive) พบมีคะแนนเลวกว่ากลุ่ม AC- โดยเฉพาะกลุ่ม AC+ ที่ใช้ยาแรงระดับ 3 กลไกของยา AC ไม่ทราบแน่ชัด

จะอย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้รวมยากลุ่มอื่นๆทางปัสสาวะและช้ำรั่ว ยาอารมณ์ดี เป็นยาสำคัญและมีประโยชน์ ดังนั้น ต้องพิจารณาความจำเป็นและขนาดของยาที่ใช้ และระยะเวลาที่ใช้

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ายาสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่เพิ่มสาร Acetylcholine จะสามารถทำให้ให้เซลล์สมองเปล่งปลั่ง ตายช้า ตายยากได้นะครับ อาจเป็นคนละเรื่องเดียวกัน. ใช้ยา อยากทราบว่า ความแรงเท่าใด อาจใช้ anticholinergic burden calculator หาใน กูเกิ้ล ACB calculator พิมพ์ชื่อยา ควรเป็นชื่อจริง ชื่อการค้า จะผิดแผกแตกต่างจาก เมืองนอกได้

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก FB : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha


ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark