ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

วัดพลัง เปิดผลงาน เศรษฐา เทียบ ประยุทธ์

เช้านี้ที่หมอชิต - จากถ้อยคำของ พลเอก ประยุทธ์ ที่ดูเหมือนยังคาใจต่อความสามารถของ คุณเศรษฐา ทวีสิน ไม่ว่าจะเป็นคำถามอย่าง "เก่งตรงไหน" ไปจนถึงคำว่า "จำเอาไว้ เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เศรษฐกิจหรือธุรกิจของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง" ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เราลองไปทำความรู้จัก คุณเศรษฐา กันให้มากขึ้น พร้อม ๆ กับย้อนดูผลงานที่ผ่านมาของ พลเอก ประยุทธ์ กันสักหน่อย

เศรษฐา ทวีสิน เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 ด้านการศึกษาจบระดับปริญญาโท ด้านการเงินจาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน คุณเศรษฐา คือ ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์บริหารธุรกิจมาแล้ว 30 ปี เริ่มต้นจากการมีพนักงาน 7 คน ตอนนี้มีพนักงาน 4,000 คน จัดว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้น ๆ ของประเทศไทย มีมูลค่าตามราคาตลาดราว 27,870 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 ในสนามธุรกิจถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่เจนจัดด้านธุรกิจที่อยู่อาศัยระดับ luxury อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์วิกฤตอย่างช่วงโควิด-19 หรือกว่า 2 ปี ที่กำลังซื้อหดหาย เขาตัดสินใจลดราคาลง เพื่อให้ขายสินค้าออกไปได้เร็วขึ้น จนสามารถนำพาองค์กรฝ่าวิกฤตได้สำเร็จ และมีกำไรกลับมา

คุณเศรษฐา ยังมีฉายาว่า CEO สาย Call Out เนื่องจากมักออกมาโพสต์แชร์ความคิดมุมมองประเด็นทางสังคม การเมืองเสมอ จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างบนโลกออนไลน์ทวิตเตอร์
 
ส่วนในทางการเมือง คุณเศรษฐา ไม่ได้ถือว่าเป็นหน้าใหม่ โดยเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอดีต CEO "เอสซี แอสเสท" หนึ่งในยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเวลานั้น

รู้จักเกี่ยวกับ คุณเศรษฐา ไปแล้ว ไปที่ พลเอก ประยุทธ์ กันบ้าง ผลงานเด่น ๆ ของท่านมีอะไร

เรื่องแรก คือ โครงสร้างพื้นฐาน มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีทั้งที่เสร็จแล้วและยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟฟ้าทางคู่ การก่อสร้างทางด่วนเชื่อมเส้นทางหลัก อาทิ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เคยถูกฝ่ายค้านโต้แย้ง อย่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พลเอก ประยุทธ์ เคยบอกว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณมากกว่า 5.8 ล้านล้านบาท แต่หากไปไล่เช็กข้อมูลจะพบคืบหน้าไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ และหลายโครงการมีแนวโน้มจะส่อแววซ้ำรอยโครงการแบบโฮปเวล

อีกหนึ่งผลงานที่ พลเอก ประยุทธ์ ดูเหมือนจะภาคภูมิใจ คือ นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ต้องยื้อแย่งกันระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ ที่ล่าสุดบอกว่า จะเพิ่มเงินในบัตร 700 บาท กับพรรคใหม่ของท่าน คือ รวมไทยสร้างชาติ ที่บอกว่าจะเพิ่มให้เป็น 1,000 บาท
 
มาดูรายละเอียดกันสักหน่อยสำหรับโครงการนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง โดย กระทรวงการคลัง เริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยครั้งแรกในปี 2559 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 8 ล้านคน

ต่อมาเมื่อถึงกลางปี 2560 มีการเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 3 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2560 เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดสวัสดิการสังคมและบริการภาครัฐ ทำให้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคน แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้วพบว่ามีผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมด 11.4 ล้านคน

กระทั่งปลายปี 2561 หรือก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลประกาศมาตรการขยายสิทธิผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนในครั้งแรกได้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงเพิ่มขึ้นจาก 11.4 ล้านคน เป็น 14.5 ล้านคน

โดยรอบล่าสุด ปี 2566 มีผู้มาลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบจากกรมการปกครอง 19.6 ล้านคน แต่เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติรับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน สำหรับผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติราว 5.05 ล้านคน ยังสามารถอุทธรณ์ได้

และอีกหนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญของ พลเอก ประยุทธ์ ยังมีคำว่า "เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เศรษฐกิจหรือธุรกิจของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง" อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา มีคำถามจากสังคมต่อครอบครัวจันทร์โอชาในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ตำแหน่ง สว. ของ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ซึ่งเป็นน้องชาย หรือการทำธุรกิจของลูกชาย พลเอก ปรีชา หลานพลเอก ประยุทธ์ ที่ตั้งบริษัทและสามารถคว้างานจากหน่วยงานรัฐไปมากมาย จนถูกเปรียบเปรยว่าเป็นหนุ่มอายุน้อยพันล้าน ซึ่งในการได้งานในหลายครั้งก็มีข้อกังขาว่าอาจมีการฮั้วประมูล ล่าสุด ยังเป็นประเด็นถูกนำมาอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 โดย สส.น้ำ จิราพร สินธุไพร จากเพื่อไทย ด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark