ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : อมก๋อย โมเดล ช่วยเกษตรกรไทย

ประเด็นเด็ด 7 สี - มาดูโครงการน่าสนใจ อย่างอมก๋อย โมเดล เป็นโครงการที่รัฐบาลใช้งบประมาณน้อย แต่ได้ประโยชน์มาก ช่วยเกษตกรได้เกินคุ้ม ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

เชื่อว่าหลายคนสงสัย ทำไมโครงการนี้ชื่อ อมก๋อย โมเดล ชื่อนี้ได้มาเมื่อครั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เค้าลงพื้นที่พบปะเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2563 โดยครั้งนั้นมีการนำพาผู้ซื้อ ไปลงนามความร่วมมือ กับเกษตรกร รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร หวังสร้างความเชื่อมั่น ว่าผลผลิตทางการเกษตร จะมีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอน และประสบความสำเร็จ ถึงถูกถอดโมเดล มาใช้กับพืชอื่น ๆ

เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้กับเกษตรกรว่าผลผลิตที่ออกมา มีตลาดรองรับแน่นอน โดยมีการกำหนดราคาที่รับซื้อไว้อย่างชัดเจน ในราคานำตลาด ทำให้เกษตรกรรับรู้ว่าผลผลิตที่ผลิตออกมา จะขายได้ในราคาเท่าไร สุดท้ายกลายเครื่องมือสำคัญ ที่ภาครัฐโดย กระทรวงพาณิชย์ นำมาใช้ดูแลสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในโครงการที่มาถูกที่ถูกทาง ใช้งบประมาณภาครัฐน้อยมาก ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมภาครัฐ ถึงไม่นำผู้ซื้อ ไปรับซื้อสินค้าเกษตรทั้งหมด คำตอบก็คือ เพราะหากทำเช่นนั้น จากการดูแลเกษตรกร จะกลางเป็นรัฐเข้าไปทำลายกลไกตลาด หรือ รัฐเข้าไปมีส่วนดำเนินธุรกิจในพื้นที่

ทั้งนี้เมื่อส่วนผลผลิตที่เหลือจากการทำสัญญา ก็จะปล่อยให้มีการซื้อขายตามวิถีทางปกติ เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ ทำมาค้าขายได้ ถ้ายังมีการซื้อขายปกติ ราคาก็จะเป็นปกติ นี่แหละเรียกว่า ปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน แต่เมื่อไหร่เกิดภาวะไม่ปกติ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หรือ เกษตรกรถูกกดราคา ภาครัฐก็จะยื่นมือเข้าช่วยนั่นเอง

ที่ผ่านมา รัฐบาล นำพาผู้รับซื้อผลผลิต ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นภาคเอกชน ห้างร้านรายใหญ่ ไปเปิดตลาดรับซื้อ สินค้าเกษตรมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ลำไย  ลองกอง มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี แทบจะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างล่าสุด ก็พืช 3 หัว ทั้ง หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม ก็เพิ่งเปิดรับซื้อเพิ่มเติม จากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

จากนั้นก็จะนำผลผลิต กระจายไปขายยังตลาดปลายทางในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น เช่น หอมหัวใหญ่ ราคาเพิ่มจากปีที่แล้ว 30% , หอมแดง เพิ่ม 37% และกระเทียม เพิ่ม 50% ทั้ง 3 ชนิดปีนี้รับซื้อมากกว่า 45,000 ตัน เป็นการช่วยเกษตรกรเร่งระบายผลผลิต สินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้โครงการตอนนี้มี 5 กลุ่ม 29 สินค้า แทบจะครอบคลุมสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ทั้งหมด

ส่วนงบประมาณที่ภาครัฐใช้น้อยนิดมาก ๆ ก็จะนำไปช่วยเกษตกรสนับสนุนค่าบริหารจัดการซื้อและรวบรวมการแปรรูปผลผลิต เพื่อกระจายเข้าสู่ร้านอาหารและร้านค้าธงฟ้า รวมทั้งการกำกับดูแลการขนย้ายและการนำเข้า

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark