ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ตรวจสอบจุดกลับรถ จ.พิจิตร งบฯ 9 ล้านบาท ไม่ถึง 5 เดือน น้ำท่วม

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ติดตามปัญหาน้ำท่วมทางกลับรถใต้สะพานทางหลวงหมายเลข 117 อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร หลังชมรม Strong ต้านทุจริตประเทศไทย พบความผิดปกติในการออกแบบ คุณจิรเมธ กลับวงษ์ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเรื่องนี้

นี่เป็นสภาพจุดกลับรถใต้สะพานบริเวณถนนสายเอเชีย 117 เขตรอยต่อจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ ที่เวลานี้เต็มไปด้วยคำถามแคลงใจจากประชาชน ซึ่งไม่สามารถสัญจรไปมาได้สะดวกเพราะมีน้ำท่วมขัง จนหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า โครงการนี้มีข้อผิดพลาดในการออกแบบหรือไม่ รวมถึงประโยชน์ในการสร้าง คืออะไร

คอลัมน์หมายเลข 7 ประสานงาน สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดพิจิตร และ ป.ป.ช.จังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งแขวงทางหลวงพิจิตร ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง ลงตรวจสอบพื้นที่ร่วมกัน ได้ข้อมูลว่า โครงการนี้ก่อสร้างด้วยเงินงบประมาณ ประจำปี 2565 จำนวนเกือบ 9 ล้านบาท และเปิดใช้งานมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยมีเหตุผลที่ต้องการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านซึ่งต้องเผชิญปัญหาจุดกลับรถไกลกว่า 7 กิโลเมตร อีกทั้งถนนทางหลวงเส้นนี้ก็มีปริมาณการจราจรที่สูง มักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง

นายบุญธรรม ชาวบ้านหมู่ 6 ซึ่งใช้จุดกลับรถเส้นนี้อยู่เป็นประจำ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรับรู้ และยอมรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพื่อแลกกับความสะดวก และโอกาสในการทำการปลูกข้าวนาปรัง หลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งมานานกว่า 8 ปี

ขณะที่ ผอ.แขวงทางหลวงพิจิตร ยืนยัน การก่อสร้างโครงการเป็นไปตามแผนเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวง

แม้จะมีคำยืนยันจากชาวบ้านและแขวงทางหลวงพิจิตร ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ยืนยันเรื่องของความจำเป็นและคุ้มค่า แต่ข้อกังขาประเด็นการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นเงินงบประมาณภาษีของประชาชน และมีข้อมูลว่าการดำเนินโครงการไม่ได้มีการทำประชาคม ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงเรื่องนี้  

โครงการก่อสร้างบริเวณทางกลับรถใต้สะพานทางหลวงหมายเลข 117 อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เขตรอยต่อ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งใช้งบประมาณเกือบ 9 ล้านบาท แต่เมื่อสร้างเสร็จไปไม่นานก็เกิดปัญหาน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของคนต่างถิ่น ที่สุดท้ายไม่พ้นต้องควักงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนในการปรับปรุงแก้ไขอีก 200,000-300,000 บาท เพื่อเสริมแนวกั้นป้องกันน้ำท่วม

อาจต้องตั้งคำถามขบคิดเพิ่มต่อว่า หากก่อนดำเนินโครงการมีการศึกษาให้รอบด้าน เพื่อประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดทุกมิติ ผลกระทบที่ตามมาทุกวันนี้ คงจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark