ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

หมอธีระวัฒน์ เผยผลศึกษา ดื่มแอลกอฮอล์บ้าง ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม

ดื่มแอลกอฮอล์ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม

หมอธีระวัฒน์ เผยผลศึกษาดื่มแอลกอฮอล์บ้าง ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม ลดจากดื่มหนักเป็นดื่มปานกลางก็ลดความเสี่ยง แต่อย่าชะล่าใจ พวกดื่มหนักเสี่ยงกว่าเดิม ย้ำถ้าไม่เคยดื่มก็ไม่ต้องดื่ม หรือถ้าดื่มก็เป็นการดื่มเพื่อสุขภาพในปริมาณน้อย

ดื่มแอลกอฮอล์ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม วันที่ 20 มีนาคม 2566 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงผลการศึกษาในคนเกาหลี ถึงเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม โดยระบุ

"แอลกอฮอล์บ้าง กลับลดสมองเสื่อม !!??!!
การศึกษานี้ไม่ได้หมายความว่าส่งเสริมให้ผู้คนทั้งหลายดื่มเหล้า เพราะทั้งนี้เราทุกคน ทราบแล้วว่า การดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ถ้าไม่รู้จักตนเองเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นติด ดื่มหัวราน้ำ ชีวิตตนเองและครอบครัวจะพังพินาศและมีโรคภัยไข้เจ็บมหาศาลทั้งโลกทางกายและสมอง ผลของการศึกษานี้ รายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA network open) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 ผลสรุป โครงการศึกษาก็คือ กลุ่มที่คงระดับของการดื่มอยู่ที่ดื่มบ้าง ถึงดื่มปานกลางนั้น ลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมลง และการลดปริมาณจากดื่มหนักเป็นดื่มปานกลาง จะลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมเช่นกัน และในขณะเดียวกันจากที่ไม่ดื่มเลย เป็นเริ่มดื่มบ้างในปริมาณน้อย จะลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมด้วย

ทั้งนี้ เป็นการติดตามศึกษาในคนเกาหลีเป็นจำนวน 4 ล้านคน (3,933,382 คน) โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2009 และในจำนวนนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น 54.8% ไม่ดื่มเลย 26.7% ดื่มบ้าง 11.0% เป็นพวกดื่มปานกลางและ 7.5% เป็นดื่มหนัก

โดยที่การจัดระดับของการดื่มบ้าง ปานกลาง และหนักนั้น ดูจากปริมาณแอลกอฮอล์มาตรฐาน นั่นก็คือ หนึ่งดื่ม=14 กรัมของแอลกอฮอล์

- ดื่มบ้าง หรือ mild drinker จะอยู่ที่น้อยกว่า 15 กรัมต่อวันหรือประมาณ=หนึ่งดื่ม - ดื่มปานกลางจะอยู่ที่ 15 ถึง 29.9 กรัมต่อวัน หรือประมาณเท่ากับหนึ่งถึงสองดื่ม
- ดื่มหนักจะอยู่ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กรัมต่อวัน นั่นก็คือมากกว่าหรือเท่ากับสามดื่ม ในระหว่างช่วงเวลา 2009 ถึง 2011 นั้น
- กลุ่มดื่มบ้าง 24.2% กลุ่มดื่มปานกลาง 8.4% และกลุ่มดื่มหนัก 7.6% นั้นเลิกดื่มไปหมด

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ปรากฏว่า 13.9% ของกลุ่มไม่ดื่มเลย 16.1% ของกลุ่มที่ดื่มบ้างและ 17.4% ของกลุ่มที่ดื่มปานกลางกลับเพิ่มระดับปริมาณของการดื่มขึ้น ในช่วงเวลาของการติดตามเฉลี่ย 6.3 ปีนั้น พบว่ามี 2.5% ที่เป็นสมองเสื่อม (100,282 คน) โดยสามารถระบุได้ว่า 2% (79,982 คน) เป็นโรคอัลไซเมอร์ และ 0.3% (11,085 คน) เป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นจากเส้นเลือดฝอยตันพรุนในเนื้อสมอง (vascular dementia)

ข้อมูลที่ไม่คาดคิดมาก่อน ในการศึกษานี้ก็คือ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ดื่มเลยตลอดระยะเวลาที่เริ่มการศึกษา กลับพบว่ากลุ่มที่ดื่มบ้างและดื่มปานกลางกลับมีความเสี่ยงของสมองเสื่อมลดลง 21% (aHR, 0.79; 95% CI, 0.77-0.81) และ 17% (aHR, 0.83; 95% CI, 0.79-0.88) ตามลำดับ แต่ในกลุ่มที่ดื่มหนักนั้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 8% (aHR, 1.08; 95% CI, 1.03–1.12)

ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณกับความเสี่ยงของสมองเสื่อมในลักษณะนี้เป็นแบบเดียวกันทั้งโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ และสมองเสื่อมจากเส้นเลือดตัน

• การลดระดับปริมาณของแอลกอฮอล์จากดื่มหนักเป็นดื่มปานกลางทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดสมองเสื่อมได้ทั้งสองแบบ
• และเช่นเดียวกันเมื่อเพิ่มปริมาณขึ้นจากระดับปานกลางไปเป็นหนักก็จะเพิ่มความเสี่ยงของสมองเสื่อมทั้งสองแบบ
• แต่ข้อมูลที่ดูประหลาดแต่เป็นไปแล้วนั้น ก็คือในกลุ่มที่ไม่ดื่มเลยและเริ่มต้นดื่มบ้างในระยะต่อมา พบว่าความเสี่ยงที่จะเกิดสมองเสื่อมทั้งหมดลดลง 7 เปอร์เซ็นต์ (aHR, 0.93; 95% CI, 0.90-0.96) และลดลง 8% ของสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ (aHR, 0.92; 95% CI, 0.89-0.95) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ดื่มบ้างอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

หมายความว่า เมื่อเริ่มดื่มบ้างแล้วจากไม่เคยดื่มเลยกลับทำให้ความเสี่ยงของสมองเสื่อมนั้นลดลง

ซึ่งข้อมูลจากไม่ดื่มเลยเป็นดื่มบ้าง กลับได้ประโยชน์ ไม่เคยมีรายงานการศึกษาที่ใดมาก่อน และหัวหน้าคณะวิจัยได้กล่าวย้ำว่าผลการศึกษานี้ ไม่ได้เป็นการชักชวนให้คนที่ไม่ดื่มเลยเริ่มต้นดื่ม

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษานี้หรือการศึกษาก่อนหน้า เมื่อเริ่มต้นดื่มไปแล้วและไม่สามารถหยุดยั้งตนเองกลายเป็นติดแอลกอฮอล์จนใช้ปริมาณสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของสมองเสื่อมขึ้นเป็นสามเท่า

ในทางกลับกัน ผู้ที่ดื่มบ้างในปริมาณน้อยอยู่แล้ว สามารถคงปริมาณในระดับนั้นได้ โดยอาจไม่ต้องกังวล และอาจมีความดีใจแฝงอยู่นิดๆว่ายังคงมีสมองใสต่อไปได้ท้ายสุด คณะผู้ศึกษาได้แจงข้อจำกัดของการศึกษานี้ว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ที่แต่ละคนรายงานนั้น อาจเป็นไปได้ว่า น้อยกว่าสัดส่วนที่ดื่มจริง และขณะเดียวกันชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีการแยกแยะรายละเอียดในการศึกษานี้ว่า เป็น เหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเป็นเครื่องดื่มประเภทอื่นและอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ผู้อยู่ในการศึกษานี้เป็นผู้ที่ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ดังนั้นอาจจะเป็นกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพค่อนข้างดีอยู่แล้วและมีการใช้ชีวิตแบบสุขภาพดีกว่าประชากรทั่วไปในเกาหลีอีกประเด็นที่สำคัญก็คือการศึกษานี้ไม่ได้มีการพิจารณาถึงยีนที่ส่งเสริมที่ทำให้เกิดอัลไซเมอร์ และประการสุดท้ายก็คือ ข้อมูลเหล่านี้จำกัดอยู่ที่คนเกาหลี ดังนั้น อาจจะพูดไม่ได้เต็มที่ว่าสามารถนำไปประยุกต์กับคนเชื้อชาติอื่นได้หรือไม่โดยที่อาจจะมีพันธุกรรมในด้านการขจัดแอลกอฮอล์ไม่เหมือนกัน (alcohol metabolism) ง่ายสุดที่เราทำได้ก็คือ ไม่เคยดื่มก็ไม่ต้องดื่ม หรือถ้าดื่มก็เป็นการดื่มเพื่อสุขภาพในปริมาณน้อยครับ."


BUGABOO NEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark