ข่าวในหมวด ข่าวประชาสัมพันธ์

กิจกรรม “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 16 เมษายน 2566

กิจกรรม “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566”
ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 16 เมษายน 2566
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)



 
กว่าจะเป็น “น้ำทิพย์”

          ที่มาของการทำ “น้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์” ในความเชื่อของล้านนาเรื่องน้ำทิพย์หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่มีการทำน้ำทิพย์เพื่อใช้ในการสรงน้ำ ทั้งพระพุทธรูปสำคัญ พระบรมสาริกธาตุ พระเจดีย์องค์สำคัญ รวมถึงการสรงน้ำพุทธาภิเษกขององค์พระมหากษัตริย์ น้ำที่จะนำมาทำน้ำทิพย์นั้น จะต้องได้มาจากแหล่งน้ำที่มีประวัติตำนานหรือความเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นแหล่งน้ำที่เทวดาอารักษ์ของเสื้อบ้านเสื้อเมือง หรือผีอารักษ์เสื้อเมืองนั้นสถิตรักษาอยู่ หรือถูกยกย่องให้เป็นอารักษ์เมือง จึงจะถือว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำมาทำ “น้ำทิพย์” ที่เพิ่มกระบวนการขั้นตอนให้เกิดความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์ในตัว

          โดย ททท.สำนักงานเชียงใหม่ ได้ร่วมกับ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ได้ดำเนินการสืบค้นขั้นตอนการทำน้ำทิพย์โบราณ จากปราชญ์ผู้รู้ของเมืองเชียงใหม่หลายท่าน ได้แก่ พ่ออาจารย์ศรีเลา เกษพรหม (ปราชญ์ล้านนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรล้านนาและพิธีกรรมล้านนา), อาจารย์เกรียงไกร บุญทนา (ปราชญ์ล้านนา ผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมความเชื่อล้านนา), พระอาจารย์ศุภชัย ชยสุโภ (วัดบุปผาราม หรือ วัดสวนดอก) จังหวัดเชียงใหม่ โดยในการรวบรวมข้อมูลเพื่อรื้อฟื้นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมของคนล้านนาเชียงใหม่ที่ขาดหายไปนานนับร้อยปีให้กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากระยะทางของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละแห่งที่อยู่ห่างไกลและยากลำบากในการเดินทาง รวมถึงกระบวนการและขั้นตอนในการประกอบตั้งแต่พิธีการอัญเชิญศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่ง พิธีการหุงน้ำทิพย์ เป็นพิธีกรรมที่มีรายละเอียดความซับซ้อนของความเชื่อและพิธีกรรมเป็นอย่างมาก


 
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ 2566

           จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีท้องถิ่นอันดีงามที่ชาวเชียงใหม่และชาวล้านนาปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีต ตลอดจนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่หลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่รัฐบาลมีประกาศผ่อนปรนต่างๆ และมีการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้จังหวัดเชียงใหม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ถือว่าอีกหนึ่งเป็นจังหวัดที่มีมาตรการป้องกันคุมเข้มรัดกุมมาโดยตลอด อีกทั้งในปี 2565 จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็น World Festival And Event City งานประเพณีสงกรานต์จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นล้านนา ตามแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของนักท่องเที่ยว ด้วยการพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” โดยนำเสนอความพิเศษในการท่องเที่ยวผ่านเมนูประสบการณ์ที่มีคุณค่าเหนือราคา ผ่านสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว (T) Thai Wisdom to Discover เพื่อเป็นการกระตุ้นความถี่การเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ให้เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 
น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566

         การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดจัดกิจกรรม “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” ขึ้น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการฟื้นฟูพิธีกรรมล้านนาโบราณในการทำน้ำทิพย์ที่สูญหายไปจากเมืองเชียงใหม่แล้วนับร้อยปี กลับมาให้ชาวเชียงใหม่ชนรุ่นหลังและประชาชนได้รู้จักหวนรำลึกถึงประเพณีโบราณ และนักท่องเที่ยวได้ร่วมประสบการณ์พิธีกรรมล้ำค่าที่สัมผัสได้ยาก รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่  อายุครบ 727 ปี โดยการนำน้ำจากแหล่งน้ำที่มีความเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แหล่งสำคัญทั่วเมืองเชียงใหม่ อัญเชิญมาประกอบพิธีในการหุงน้ำทิพย์โบราณ และประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ “พุทธาภิเษกน้ำ” ความเชื่อเก่าแก่ของล้านนา ก่อนแจกจ่ายให้ผู้ที่มาร่วมงานเทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่และประชาชนทั่วไป ภายใต้แนวคิดในการสืบสานและต่อยอดวัฒนธรรมประเพณีล้านนาของจังหวัดเชียงใหม่ ให้สอดคล้องกับการจัดงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ (ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566) ที่จะจัดขึ้นเดือนเมษายน 2566 โดยกำหนดจุดแจกน้ำทิพย์ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ตามสถานที่สำคัญ 9 จุด ตั้งแต่วันที่ 12 - 16 เมษายน 2566 จำนวน 10,727 ขวด ให้สอดคล้องกับการที่จังหวัดเชียงใหม่มีอายุครบ 727 ปี ในปี 2566 อีกด้วย                                           


 
ขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆในการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง และพิธีหุงน้ำทิพย์

• อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 16 เมษายน 2566
- ขุนน้ำแม่ปิง อุทยานแห่งชาติผาแดง อำเภอเชียงดาว (ต้นน้ำแม่ปิงเหนือสุดประเทศไทย)
- วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง
- วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำหลวง) เมืองเก่าเวียงกุมกาม อำเภอเมืองเชียงใหม่
- วัดผาลาด (สกิทาคามี) อำเภอเมืองเชียงใหม่
- วัดดับภัย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่
- วัดบุพพาราม อำเภอเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่
- วัดป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่
- วัดพุทธเอ้น อำเภอแม่แจ่ม
- อ่างกาหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (สูงสุดประเทศไทย)


 
ขั้นตอนการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ จาก 9 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์
(1) ขบวนแห่อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ - กล่าวโองคำ ถวายเครื่องพลีกรรม ต่ออารักษ์ และผีขุนน้ำ
(2) อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อด้วย กระบวยกะลา มายัง “สังข์เพชร”
แล้วจึงหลั่งลงบรรจุมายัง “น้ำต้น (คนโท) โบราณ”
(3) สมโภช ด้วยระบำฟ้อนล้านนา พร้อมลาเครื่องพลีกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำ

ขั้นตอนพิธีหุงน้ำทิพย์
(1) อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ จาก 9 แหล่ง
(2) กล่าวโองคำ ถวายเครื่องพลีกรรม
(3) จุดเตาหุงจะไม่ใช้การจุดจากไม้ขีด จะจุดไฟจากแสงแรกของพระอาทิตย์ ประหนึ่งดั่ง “ไฟทิพย์จากพระอินทร์”
(4) สุมไฟด้วยไม้หอมมงคล (ไม้สัก ไม้แก้ว ไม้ตุ้ม ไม้เต๊า ฯลฯ)
(5) กรองน้ำศักดิ์สิทธิ์ 7 ชั้น พร้อมปรุงไม้หอมมงคล ทั้ง 7 (ไม้จันทร์ขาว ไม้จันทร์แดง พิมเสน)
(6) บริกรรมสวดพระปริตรและพระคาถาไชยทั้ง 7 (บทสวดใหญ่ใช้ในการสืบชาตาเมือง)
(7) นำน้ำทิพย์ที่ผ่านการหุงและเย็นตัวแล้ว เทผ่านผ้าขาว 7 ชั้น ลงสู่ภาชนะ
เตรียมเข้าสู่พิธีเจริญพระพุทธมนต์
(8) ตีกลองปู่จา (กลองปูชาหรือกลองไชยมงคล) ประกาศไชยมงคลฉลองชัยการหุงน้ำ พร้อมฟ้อนขันดอก เฉลิมฉลองความเป็นมงคล

ขั้นตอนการเจริญพระพุทธมนต์ “พุทธาภิเษกน้ำ”
(1) จุดธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัย
(2) พระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ “พุทธาภิเษกน้ำ” เพิ่มความเข้มขลัง
(3) ตีกลองปู่จา (กลองปูชาหรือกลองไชยมงคล) ประกาศไชยมงคลฉลองชัยการประกอบน้ำทิพย์แห่งเมืองเชียงใหม่ พร้อมฟ้อนขันดอก เฉลิมฉลองความเป็นมงคล

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark