ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ชำแหละคดีลักปืนหลวงขาย กลโกง จนท.ฉวยโอกาสทำรัฐเสียหาย

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ติดตามความคืบหน้า ตำรวจ 8 นาย โดนข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้กำลังพลขโมยปืนจากคลังไปขาย จนรัฐได้รับความเสียหายและยากต่อการทวงคืน ติดตามกับคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

เหตุการณ์ลักปืนหลวง สภ.ปากเกร็ด ซึ่งศาลมีคำสั่งพิพากษาจำคุก ดาบตำรวจ เชาวลิต ผู้ตรวจเก็บและดูแลรักษาอาวุธปืนหลวง ในคลังของสถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด และฉวยโอกาสทยอยนำออกไปจากคลัง จำนวน 256 ปี 168 เดือน แต่ให้จำคุก 50 ปี ตามกฎหมาย กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง หลังคณะกรรมการตำรวจภูธรภาค 1 มีมติร่วมกันให้ดำเนินคดีเพิ่มกับตำรวจอีก 8 นาย ที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งมีตั้งแต่ระดับอดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจ, ผู้กำกับการคนปัจจุบัน, สารวัตรป้องกันปราบปราม และเจ้าหน้าที่ธุรการ ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปละ ขาดการตรวจสอบ ทำให้ปืนในคลังถูกขโมยออกไป

จากการติดตามกลโกงขบวนการลักลอบปืนหลวง ที่แม้ตำรวจจะทุ่มสรรพกำลัง พยายามติดตามจับกุมทุกซอกทุกซอย แต่ปัจจุบันปืนในคลังที่หายไปรวม 164 กระบอก ก็สามารถติดตามคืนกลับมาได้เพียง 63 กระบอกเท่านั้น โดยหากย้อนกลับไปในรายละเอียด ปืนในคลังที่หายไป ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 และต่อมามีข้อมูลว่า ถูกทยอยนำส่งออกไปจำหน่ายแจกจ่ายในวงการพนัน รวมทั้งวงการยาเสพติด และกว่าครึ่งถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้กับชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดน

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งมีพฤติการณ์ในการรับจำนำปืนที่จัดอยู่ในกลุ่มอาวุธสงคราม ที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถครอบครองได้ จาก ดาบตำรวจ เชาวลิต เวลานี้ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดได้แล้ว 23 คน

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เปิดช่องให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิด จนเกิดเป็นความเสียหายที่ยากต่อการทวงคืน ท่ามกลางการตั้งคำถามและความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งมักปรากฏข้อมูลว่า ปืนที่อยู่ในความครอบครองของผู้ก่อเหตุความรุนแรงส่วนใหญ่ ล้วนเป็นปืนที่ได้มาจากตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้สิทธิ์ในการดูแลครอบครอง แต่กลับใช้สิทธิ์นี้ทุจริตนำมาขายต่อในตลาดมืด

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark