ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

จ่าสิบโท แฮ็กเกอร์ 9near มอบตัว รับซื้อข้อมูล ปฏิเสธไม่ได้แฮก

เช้านี้ที่หมอชิต - นายทหารพระธรรมนูญ นำทหารยศจ่าสิบโท หรือ แฮ็กเกอร์9near เข้ามอบตัวกับตำรวจไซเบอร์ สารภาพซื้อข้อมูลจากเว็บมืด 8,000 บาท ไม่ใช่มือแฮ็ก ขอโทษที่ทำให้คนไทยตื่นตระหนก ยืนยันยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลที่มีอยู่

นี่เป็นครั้งแรก ที่แฮ็กเกอร์ที่ใช้ชื่อว่า "9near" ปรากฏตัวขึ้น หลังจากโพสต์ขายข้อมูลคนไทย ที่อ้างว่ามี 55 ล้านรายชื่อ ทางเว็บบอร์ด Bleach Forums ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม แต่การปรากฏตัวของเขาเมื่อวานนี้ เป็นการเข้ามอบตัวกับตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ โดยมีทหารพระธรรมนูญ เป็นผู้ประสานงานมอบตัว เนื่องจากแฮ็กเกอร์รายนี้ เป็นทหาร ชื่อว่า จ่าสิบโท เขมรัตน์ บุญช่วย

จ่าสิบโท เขมรัตน์ อายุ 33 ปี ทหารสังกัดกรมการขนส่งทหารบก ถูกนำตัวเข้าสอบสวน โดยภรรยาที่เป็นพยาบาล เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งถูกแยกสอบสวนคนละห้อง หากพบว่าภรรยาของจ่าสิบโท เขมรัตน์ มีส่วนร่วมกระทำความผิด จะต้องถูกดำเนินคดี และขึ้นศาลพลเรือน เพราะถือว่ามีพลเรือนร่วมกระทำความผิดด้วย โดย 2 ข้อหาที่โดนในตอนนี้ คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

จากนั้น ตำรวจนำตัว จ่าสิบโท เขมรัตน์ ไปค้นห้องพัก ที่แฟลตโรงเรียนทหารขนส่ง กรมการขนส่งทหารบก ห้องพักเลขที่ 133/43 อาคาร 10 ชั้น 7 พบฮาร์ดดิสต์ 7-8 ตัว รีโมตควบคุมทางไกล โน๊ตบุ๊ก อุปกรณ์ซ่อมคอมพิวเตอร์จำนวนมาก รวมถึงเราเตอร์อินเตอร์เน็ต และพ็อคเก็ตไวไฟ 3 ค่าย
หลังตรวจค้นเสร็จสิ้น ตำรวจนำตัวจ่าสิบโท เขมรัตน์ กลับไปสอบสวนต่อที่กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์

พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ เปิดเผยถึงการสอบปากคำจ่าสิบโท เขมรัตน์ ว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ รวมทั้งพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ได้มานั้น สอดคล้องกับคำให้การ ผู้ต้องหามีความรู้ด้านไอที สนใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง อยู่ในเว็บไซต์ที่แฮ็กเกอร์นิยมใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนข้อมูลผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเข้าไปตรวจสอบและพบว่า มีข้อมูลของตนเองอยู่จริง จึงติดต่อขอซื้อข้อมูลส่วนตัวคนไทยเพิ่มจากเว็บดังกล่าว จำนวน 8 ล้านเรคคอร์ด เป็นเงิน 8,000 บาท จากนั้น นำรายชื่อส่วนหนึ่งโพสต์ขึ้นโซเชียลมีเดีย แต่ยังไม่ได้รับความสนใจ จึงนำข้อมูลส่วนตัวของคนมีชื่อเสียง โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย และส่งข้อความไปหาเจ้าของข้อมูล จนเกิดเป็นกระแสขึ้นมา ทำให้รู้สึกตกใจ ต้องหลบหนีไปยังสถานที่ต่าง ๆ

ผู้ต้องหายืนยันว่า เป็นการซื้อข้อมูลไม่ใช่คนแฮ็กข้อมูล ซึ่งข้อมูลบางส่วนได้ถูกทำลายไปแล้ว และยังไม่ได้นำข้อมูลดังกล่าว ไปจำหน่ายแต่อย่างใด ทั้งยังยืนยันว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยที่หลุดไป 55 ล้านรายชื่อนั้น ไม่เป็นความจริง ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบจำนวนข้อมูลที่รั่วไหลที่แท้จริง ขณะเดียวกัน ผู้ต้องหายืนยันว่า เป็นการกระทำเพียงคนเดียว และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าภรรยาของผู้ต้องหาที่เป็นพยาบาล มีหน้าที่ดูแลคนไข้บนวอร์ด ไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลระบบไอที หรือข้อมูลอื่น ๆ

ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ซึ่งมาร่วมฟังการสอบสวน ยืนยันว่า การกระทำผิดของผู้ต้องหาไม่ใช่การแฮ็กข้อมูล และเป็นการกระทำโดยตัวคนเดียว จากการตรวจสอบ ให้การรับสารภาพและเป็นไปตามพยานหลักฐาน ส่วนจะมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของตำรวจไซเบอร์ หากพบบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็จะดำเนินการโดยไม่มีข้อยกเว้น ยืนยันไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark