ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

สิ้น หลินฮุ่ย ย้อนความทรงจำแพนด้ากระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน

เช้านี้ที่หมอชิต - หลินฮุ่ย หมีแพนด้าเพศเมีย ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ขวัญใจคนไทยและนักท่องเที่ยว ตายลงด้วยอายุ 21 ปี 7 เดือน เจ้าหน้าที่ยังไม่ยืนยันว่าตายด้วยสาเหตุอะไร หลังพบว่ามีอาการป่วย เลือดออกจากจมูก ผลตรวจที่แน่ชัดคาดว่าอีก 2 เดือน ถึงจะรู้ผล

กลายเป็นข่าวช็อกทันที หลังมีการเปิดเผยว่า แพนด้า "หลินฮุ่ย" หมีแพนด้า เพศเมีย ซึ่งเดินทางมาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีอาการป่วยและเลือดออกจนตายลง เมื่อเวลา 01.10 น. ของเมื่อวานนี้ 19 เมษายน 2566

โดย นายเดชบุญ มาประเสริฐ ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวว่า ได้รับรายงานจากสวนสัตว์เชียงใหม่ว่า "หลินฮุ่ย" เกิดล้มป่วยลง และมีเลือดออกจากจมูกหลังจากกินอาหารตามปกติ และเข้าไปนอนบนผาที่พัก เจ้าหน้าที่จึงเร่งทำการรักษาพร้อมแจ้งทางการจีน กระทั่ง "หลินฮุ่ย" ตายลงในเวลาต่อมา

ขณะที่ นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ บอกว่า "หลินฮุ่ย" มีประกันชีวิตไว้ที่ 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงเมื่อแพนด้าออกจากประเทศจีนแล้วจะต้องมีประกันชีวิต นอกจากนี้ โครงการวิจัยแพนด้าในประเทศไทย ได้สิ้นสุดลงในปีนี้ รอทีมผู้เชี่ยวชาญจากจีนนำรายงานระยะเวลา 20 ปี และการเลี้ยงต่าง ๆ มาตรวจสอบประเมินอีกครั้ง

ด้าน ทีมสัตวแพทย์ กล่าวว่า "หลินฮุ่ย" เป็นแพนด้าชราวัย 21 ปี ปกติก่อนปล่อยออกส่วนจัดแสดงจะทำการตรวจสุขภาพทุกครั้ง ซึ่งสุขภาพปกติดี ส่วนช่วงเกิดเหตุไม่มีการแสดงสัญญาณอาการป่วยมาก่อน ทำให้ทุกคนรู้สึกช็อกมาก โดยตอนนี้มีรายงานว่า พบแพนด้าเลือดออกแล้วตายแบบนี้ 2-3 ตัว เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเลือดออกที่จมูกของ "หลินฮุ่ย" ตรงกับคลิปวิดีโอที่นักท่องเที่ยวชาวจีนบันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดยจะเห็นภาพเลือดไหลออกจากจมูกและคอชัดเจน ซึ่งต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2566 ส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าก็ได้ประกาศปิดปรับปรุง กระทั่งมาพบว่าหลินฮุ่ยตายแล้ว แต่สาเหตุการตายที่แท้จริง ต้องรอการผ่าพิสูจน์อย่างละเอียดอีกครั้ง

สำหรับ หลินฮุ่ย เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 เกิดจากพ่อแม่แพนด้าตัวผู้ชื่อ Pan Pan (พ่าน พ่าน) และแพนด้าตัวเมียชื่อ Tang Tang (ถัง ถัง) ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 หลินฮุ่ย ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้า จำนวน 1 ตัว ซึ่งเป็นผลจากการผสมเทียมกับหมีแพนด้าเพศผู้ ชื่อ ช่วง ช่วง โดยให้กำเนิดลูกแพนด้ามีชื่อว่า หลินปิง ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกส่งกลับไปเลี้ยงที่ประเทศจีน โดย หลินฮุ่ย เคยได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองแดง ประเภทแพนด้าบุคลิกภาพยอดเยี่ยม จากการโหวตของแฟนคลับทั่วโลก

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark