ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ทำความรู้จัก สกุลเงินดิจิทัล

ประเด็นเด็ด 7 สี - สกุลเงินดิจิทัล มีการพูดถึงกันมาสักระยะ และเริ่มได้รับความสนใจขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งพรรคการเมืองเองก็มีการนำเรื่องนี้ ชูเป็นประเด็นหาเสียง วันนี้ ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ จะพาคุณผู้ชมไปทำความรู้จัก สกุลเงินดิจิทัล กับคุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์

จนถึงวันนี้ ก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล เดี๋ยววันนี้จะพาคุณผู้ชมไปทำความรู้จัก ที่มาที่ไป และความแตกต่างระหว่างธนบัตร เงินอิเล็กทรอนิกส์ และสกุลเงินดิจิทัล แบบฉบับย่อกัน

มาเริ่มกันที่ ธนบัตร กันก่อน คุณสมบัติหลัก ๆ คือ มีความปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นส่วนตัวได้รับการรับรองตามกฎหมาย แถมการใช้งานก็ง่าย คือ เรายื่นให้กันได้เลย สมมุติว่า ดิฉันส่งให้นายเอ ก็ได้รับธนบัตรทันที แต่อาจจะติดขัด หากจะต้องใช้ชำระสินค้า หรือ บริการที่มีมูลค่ามาก ๆ ที่จะต้องขนธนบัตรจำนวนมากติดตัวไปไหนมาไหน และหากอยากจะซื้อของที่อยู่ระยะทางไกล เช่น ดิฉันจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศ จะยื่นธนบัตรชำระทันทีก็ไม่ได้ ข้อจำกัดนี้ จึงเกิดรูปแบบของเงินใหม่ ๆ ออกมา

คราวนี้มาดูเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็มีความปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นส่วนตัว และได้รับการรับรองทางกฎหมาย แต่จะต่างกับธนบัตรตรงที่เงินอิเล็กทรอนิกส์ สามารถชำระได้ในจำนวนมาก ๆ และชำระเงินที่มีระยะทางไกล ๆ ได้ หลายคนยังสับสนระหว่างเงินอิเล็กทรอนิกส์ กับ สกุลเงินดิจิทัล ที่มีความคล้ายกันมาก ๆ แต่แตกต่างกันตรงนี้

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายไว้ว่า เงินอิเล็กทรอนิกส์ จะมีสถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการให้บริการตรวจสอบข้อมูล เป็นตัวกลางที่มีความน่าเชื่อถือ ตรงนี้เองก็จะทำให้มีต้นทุนการใช้งานสูงกว่า ซึ่งแตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งไม่มีตัวกลางอย่างสถาบันการเงินในการตรวจสอบ แต่อาศัยตัวกลางที่เป็นระบบเครือข่าย เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์จากผู้คนทั่วโลกในการบันทึกข้อมูล ทำให้ต้นทุนต่ำกว่า

เงินสกุลดิจิทัลนี้ ถือว่าเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี พ.ศ.2551 ปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลกว่า 1,500 สกุลเงิน ซึ่งก็มีส่วนเสริมให้สามารถเชื่อมต่อ และเปิดกว้างในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้มี บางสกุลเงินดิจิทัล ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระค่าธรรมเนียม ใช้เป็นส่วนลดต่าง ๆ แต่ถึงอย่างไร สกุลเงินดิจิทัล ก็ยังมีลักษณะการระดมทุน คล้าย ๆ แชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบรุนแรง กับธุรกิจการเงินทั่วโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการออกนโยบาย หรือมาตรการกำกับดูแลที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับประเทศไทยของเรา

ขณะนี้หน่วยงานราชการ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เริ่มศึกษาการประยุกต์ และการปรับแก้ข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลดิจิทัล เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ และลดโอกาสที่จะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark