ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ทำความรู้จักธนาคารอิสลาม

ประเด็นเด็ด 7 สี - ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจวันนี้ พาคุณผู้ชมไปรู้จักธนาคารอิสลาม ให้มากขึ้น ติดตามจาก คุณเกณฑ์สิทธิ์ กัณฑจันทร์

หลายข้อสงสัยเกี่ยวกับธนาคารอิสลาม ไม่ว่าจะเป็น คำถามที่ว่าธนาคารอิสลาม แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์อย่างไร หรือ กรณีธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยแล้วจะมีวิธีดำเนินการอย่างไรให้ธนาคารอยู่รอดได้  หรือ แม้กระทั่ง เราไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม จะสามารถเข้าไปทำธุรกรรมได้ไหม วันนี้ไปไขข้อสงสัยกัน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย Islamic Bank of Thailand หรือ เรียกกันว่า ไอแบงก์ เป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกรรมโดยปราศจากดอกเบี้ย ภาพรวม ไม่ต่างจากธนาคารพาณิชย์ มีจุดต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ที่มาที่ไปของเงิน จะต้องสอดคล้องบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ส่วนรายละเอียดธนาคารที่ปราศจากดอกเบี้ย แล้วทำไมถึงอยู่ได้ เพราะไอแบงก์ เค้าอยู่บนหลักการกำไร-ขาดทุนร่วมกัน เช่น เมื่อเราจะไปกู้เงินซื้อบ้านจากธนาคารพาณิชย์ เค้าก็จะคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย และระยะเวลาการชำระ ส่วนไอแบงก์ ธนาคารเค้าจะไปซื้อบ้าน และบวกอัตรากำไรไว้เลย จากนั้นก็ตกลงกับผู้กู้ในเงื่อนไขการผ่อนชำระ ที่บวกกำไรไปแล้ว ซึ่งในส่วนของกำไร ก็สามารถปรับบวก หรือ ลบได้ ตามสถานการณ์ และตามความเสี่ยงของลูกหนี้ ก็คล้ายกับการเรียกเก็บดอกเบี้ย แต่เค้าเรียกว่า อัตรากำไร

คราวนี้มาดูสถานะ ของไอแบงก์ ที่เค้าเพิ่งออกจากการฟื้นฟูกิจการ มาเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะนี้อยู่ในช่วงการติดตามการดำเนินงานในสถานะกลุ่มพิเศษ มีสินทรัพย์รวม 76,000 ล้านบาท ยอดเงินฝาก 75,000 ล้านบาท จากฐานลูกค้าเงินฝากจำนวน 1 ล้านราย สินเชื่อคงค้าง มี 62,000 ล้านบาท โดยเงินกองทุน หรือ ส่วนของเจ้าของ ของธนาคาร ยังติดลบกว่า 3,000 ล้านบาท เมื่อปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิกว่า 119 ล้านบาท

ไอแบงก์เอง ก็มีภาระหนี้เสีย โดยธนาคารยังเดินหน้าลดหนี้เสีย หรือ NPF จากที่มีอยู่ 13,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง จะลดหนี้เสียให้เหลือเพียง 8,000 ล้านบาท โดยมุ่งแก้หนี้ในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 3-4 ราย ที่มีมูลหนี้จำนวนมาก ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฏหมาย ส่วนรายย่อยใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนการปล่อยสินเชื่อปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 10% จากสินเชื่อคงค้าง หรือ มีจำนวน 6,000 ล้านบาท ผลการศึกษาภาพรวม ของตลาดการเงินอิสลามทั่วโลก พบว่า สิ้นปี 2564 สินทรัพย์ของระบบการเงินอิสลามรวมทั่วโลกมีมากถึง 137 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ แม้ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ 17% และมีจำนวนธนาคารอิสลาม ณ ปี 2564 รวม 566 แห่งทั่วโลก แน่นอนว่า ไอแบงก์ของไทย ยังเติบโตได้อีกไกล

เชื่อว่าระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก และยิ่งไทยเราฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ตรงนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงการค้าการลงทุน กับระบบการเงินอิสลามชั้นนำของโลกด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark