ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ยังคงอยู่

ประเด็นเด็ด 7 สี - เงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง เศรษฐกิจทั่วโลกยังฟื้นไม่เต็มที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในเร็ว ๆ นี้ ติดตามได้กับคุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ ในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

ประเทศมหาอำนาจยังเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อ ประเทศไทยคงปฏิเสธผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ยาก ในเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่สู้ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เครื่องมือสำคัญของการสกัดเงินเฟ้อ อาจจะเป็นวิธีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เลือกนำมาใช้อีกครั้ง

สำหรับไทย แม้จะไม่อยากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อาจจะเรียกได้ว่า ถึงจุดที่จำเป็นต้องทำ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 2.4% สูงกว่าที่ผ่าน ๆ มา การทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงยังคงมีอยู่ แต่ยืนยันว่าเป็นการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีจุดเปราะบางที่ หนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ลำบาก

พาคุณผู้ชมไปดูการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในของไทย ปีนี้เราปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้ง นับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งแรกของปี วันที่ 25 มกราคม และการประชุมครั้งถัดมา วันที่ 29 มีนาคม ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง มติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย ครั้งละ 0.25 % ต่อปี ส่งผลให้ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ 1.75% ต่อปี หลังจากนั้นธนาคารต่างก็ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมา ทั้งเงินฝากและเงินกู้

บรรดานักลงทุน ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% เนื่องจากดัชนีคาดการณ์เงินเฟ้อ ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 2.22% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้ที่ระดับ 2% โดยนักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ครั้งนี้ อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับธนาคารกลางใหญ่ ๆ หลายแห่งของโลก ที่ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ไทยก็จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตามอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง เพื่อพร้อมรับความเสี่ยงรอบด้าน ที่อาจเข้ามาปะทะได้ตลอดเวลา

แน่นอนว่า หากธนาคารทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ไทยไม่ปรับขึ้นตาม จะทำให้เกิดช่องว่างทิ้งห่างจากประเทศอื่น ซึ่งผลที่จะตามมาคือ เกิดข้อเปรียบเทียบด้านอัตราดอกเบี้ย นำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark