ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ทางรอด กลุ่มธุรกิจ Startup

ประเด็นเด็ด 7 สี - การทำธุรกิจ ในกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ ผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ที่เรียกกันว่า สตาร์ตอัป แม้จะต้องฝ่าฟันหลาย ๆ อุปสรรค์ แต่ก็ไม่ยากที่จะมีผลประกอบการเติบโตแบบก้าวกระโดด ไปติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้มีผลสำรวจเกี่ยวกับ การทำธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัป พบว่า มีธุรกิจที่รอดเพียง 10% ส่วนอีก 10% เป็นกลุ่มลุ่ม ๆ ดอน ๆ ที่เหลืออีก 80% มักจะไม่รอด แม้ตัวเลขจะน่าตกใจ แต่ก็ใช่จะหนทางตัน วันนี้เรามีข่าวดีมาฝาก

ประเทศไทยเราเริ่มมีธุรกิจสตาร์ตอัปราว ๆ ต้นปี 2554 อย่างบางราย ก็เริ่มต้นจากการเป็นเว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร กระทั่งพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เพื่อให้การค้นหาร้านอาหารมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ธุรกิจ ก็จะมีรายได้ จากร้านอาหารต่าง ๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม และยังมีรายได้จากค่าโฆษณา ที่ผ่านมาการทำธุรกิจในกลุ่มสตาร์ตอัพ ซึ่งแตกแขนงไปหลากหลายต่างคนต่างลองผิดลองถูก ที่ประสบความสำเร็จมีน้อยกว่าที่ล้มเหลว แต่หลายรายที่พยายามนำเทคโนโลยี หรือ นวัตกรรมเข้ามาช่วย ทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวก คล่องตัวมากขึ้น ก็ประสบความสำเร็จได้ไม่น้อย 

อย่างปัจจุบันมีผู้ใช้ Facebook กว่า 2,900 ล้านคน และ Line กว่า 500 ล้านคน ทั่วโลก ช่องทางเหล่านี้หากนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะทำให้การทำธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น ไม่แน่ผลประกอบการมีโอกาสเติบโตได้แบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ต้องมองปัญหาให้เป็น แก้ปัญหาให้ตรงจุดความท้าทายของสตาร์ตอัปคือ การลองหรือทดลอง ถ้าทดลองทำแล้วได้ดีก็ทำต่อ แต่ถ้าลองแล้วไปไม่ได้ ต้องอย่าฝืน เพราะเมื่อฝืนทำต่อ แน่นอนว่า โอกาสล้มก็มีสูง

คราวนี้มาดูนโยบายรัฐบาล ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยตั้งเป้าหมาย ให้กลุ่มสตาร์ตอัป เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ซึ่งล่าสุดเพิ่งจะมี ข่าวดี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เดินหน้าโครงการ "กองทุนอินโนเวชั่นวัน" เพื่อสนับสนุน การจับคู่ระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัปที่มีนวัตกรรม กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่ต้องการนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง ส.อ.ท. เป็นภาคเอกชนรายแรกของประเทศไทย ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุน 1 พันล้านบาท ในการดำเนินโครงการ ช่วงระยะเวลา 3 ปี

เมื่อภาครัฐเป็นแรงหนุน การใช้เทคโนโลยีเป็นแรงส่ง ที่เหลือคือวางแผนปิดช่องว่างของปัญหา และวางระบบการเงินให้ดี ศึกษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และพยายามหาพันธมิตรในการทำธุรกิจ เหล่านี้ล้วนเป็นกุญแจนำพาความสำเร็จ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark