ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : หวั่น "เอลนีโญ" กระทบเศรษฐกิจไทย

ประเด็นเด็ด 7 สี - องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ ดับเบิลยูเอ็มโอ WMO ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ ออกมาประมาณการว่า มีโอกาสมากถึง 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ และมีโอกาส 80% ที่จะเกิดเอลนีโญ ภายในสิ้นเดือนกันยายน แน่นอนว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับประเทศผู้ทำการเกษตร อย่างประเทศไทย ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจวันนี้

ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ซึ่งก็คือการที่อุณหภูมิอากาศ ปรับตัวสูงขึ้น ไม่เพียงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่จะเกิดขึ้นไปทั่วโลก โดยพื้นที่บางส่วนของโลก จะเกิดความแห้งแล้ง ส่วนพื้นที่อื่นของโลก กลับเกิดฝนตกหนัก โดยลักษณะที่ว่าเคยเกิดขึ้นไป ล่าสุดเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้

สัญญาณภัยแล้งของประเทศไทย เริ่มชัดเจน นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กระทั่งปีนี้ คุณผู้ชมคงรู้สึกเหมือนกันว่า สภาพอากาศช่วงนี้ร้อนจัดกว่าทุกปี สัญาณภัยแล้งเริ่มรุนแรงขึ้นทุกขณะ ล่าสุด องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ ดับเบิลยูเอ็มโอ WMO ประมาณการว่า ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ มีโอกาสมากถึง 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" และมีโอกาสสูงถึง 80% ที่จะเกิดเอลนีโญ ภายในสิ้นเดือนกันยายน เมื่อมีการประเมินสถานการณ์มาในลักษณะนี้ หลายหน่วยงานก็ต้องเตรียมแผนตั้งรับ โดยกรมชลประทาน สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการปริมาณน้ำให้เหมาะสม เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตร

และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรง นั่นก็คือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงปริมาณฝนตกส่วนใหญ่ไปตกนอกพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยลง รวมทั้งปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ลดลง ทั้งหมดทำให้แผนรับมือกับภาวะภัยแล้ง เป็นไปด้วยความลำบากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าพืชเกษตร จะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ชัดที่สุดคงเป็นพื้นที่นาข้าว, ไร่ข้าวโพด, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งล่าสุด การยางแห่งประเทศไทย ต้องรีบเตรียมแผนรับมือ ด้วยการเร่งขุดบ่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ยามจำเป็น และการสนับสนุนเงินกู้แก่กลุ่มเกษตรกร ในการพัฒนาพื้นที่เก็บน้ำ รวมทั้งส่งเสริม การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากสวนยางฯ ด้วยการยกทัพผู้เชี่ยวชาญร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความเข้าใจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากสวนยางฯ เพื่อช่องทางสร้างรายได้เพิ่มแก่ชาวสวนยาง พัฒนาตลาดคาร์บอน และการใช้สวนยางพาราลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากที่มีอยู่ 6,800 ไร่ เป็น 50,000 ไร่ เชื่อว่าจะเป็นหนทางช่วยสร้างรายได้เพิ่มแก่ชาวสวนยาง และลดผลกระทบต่อการปลูกยาง ซึ่งยางพาราปีนี้จะออกผลผลิตช้าลง จากผลกระทบของเอลนีโญ

ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีประสบการณ์เผชิญภาวะภัยแล้ง ที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมาแล้วหลายแสนล้านบาท ซึ่งผลกระทบยังลามถึงภาคอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่การผลิต แต่เชื่อว่าการตั้งรับและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark