ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เลือกตั้ง 2566 : เช็กเสียง สว. กลางสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

เช้านี้ที่หมอชิต - ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียง สว. คือปัจจัยสำคัญในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะอย่างน้อยที่สุด การโหวตเลือกนายกฯ ที่ควรใช้เฉพาะเสียง สส. 251 เสียง กลับต้องขยายเพดานไปถึง 376 เสียง เมื่อต้องรวมเสียงของทั้งสองสภาในการโหวต

ผลการเลือกตั้งล่าสุดที่ออกมา พรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ยังคงต้องเผชิญปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล แม้จะรวมเสียงฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งฝ่ายค้านเดิมบวกด้วยพรรคเป็นธรรม น่าจะได้ประมาณ 309 เสียงเท่านั้น จึงมีสูตรต่าง ๆ ที่ออกมา ดังเช่นสูตรสุภาพบุรุษประชาธิปไตยที่ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทยเสนอ ระบุว่า "อยากเห็นการเมืองในอุดมคติ และเฝ้ารออยู่ทุกนาทีว่า พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ใครจะเป็น #สุภาพบุรุษประชาธิปไตย ก่อนกัน ด้วยการออกมาประกาศปิดสวิตซ์ สว. ร่วมโหวตให้พรรคที่รวมกันได้เกิน 300 เสียง ได้มีเสียงครบ 376 ตามรัฐธรรมนูญ สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ โดยไม่เอาการเข้าร่วมรัฐบาลมาเป็นเครื่องมือต่อรอง พรรคใดประกาศก่อน จะได้ใจประชาชน และสามารถกลับมายืนบนถนนการเมืองอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้ง"

แต่ถ้าสูตรสุภาพบุรุษประชาธิปไตยไม่สำเร็จ ก็ต้องไปว่ากันต่อที่เสียงของ สว. หากย้อนไปปี 62 ทั้ง 250 เสียงต่างโหวตเป็นเสียงเดียวกัน แต่ในครั้งนี้มีหลายปัจจัยที่แตกต่างไป เช่น การแตกพรรคกันของสองลุง อายุของ สว.ชุดนี้ที่เหลืออีกเพียงปีกว่า ๆ รวมถึงคำถามสำคัญที่ดังขึ้นทุกทีว่า ครั้งนี้ สว.จะโหวตตามเสียงข้างมากของประชาชนได้หรือไม่ เราจะพาไปเช็กเสียงของ สว.บางท่านในเรื่องนี้ ก่อนเลือกตั้งเราเคยสอบถามเรื่องนี้จาก สว.วันชัย สอนศิริ ไปฟังคำตอบตอนนั้นกันชัด ๆ

เราสอบถามจุดยืนเรื่องนี้กับ สว.วันชัย ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน ตอนนั้น คุณวันชัย ยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เมื่อผลออกมาเป็นก้าวไกลแบบนี้ ต้องจับตาดูที่ว่า "เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเอาอย่างไร ผมก็เอาตามนั้น" ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปตามนั้นจริงหรือเปล่า

อีกคนหนึ่งเราคุยกับ อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า ผลที่ออกมาทำให้มองเห็นฉันทานุมัติของคนส่วนใหญ่ เราที่ทำหน้าที่คงไม่อาจฝืนได้ สิ่งที่จะทำให้การเมืองไทยหลุดจากความขัดแย้ง สังคมไทยจะต้องอดทนกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งมีข้อดีคือต่อให้เราเลือกไม่ดีอย่างไรก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนได้ใน 4 ปีข้างหน้า "ถ้าเรายังยืนยันเรื่องประชาธิปไตยต้องกลับมาที่หลักการว่า การเคารพฉันทามติประชาชนเป็นทางออกที่ดีที่สุด การใช้อำนาจพิเศษเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้ง"

ขณะที่ สว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ มองเรื่องนี้ต่างออกไป เมื่อวานนี้ท่านให้ความเห็นผ่านรายการถกไม่เถียง ระบุว่า "เราต้องดูว่าผู้ที่เสนอตัวมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยกตัวอย่างตอนนี้คือ คุณพิธา สว.ก็จะต้องไปพิจารณาดูว่ามีคุณสมบัติที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้หรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบ เช่น การจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมั่นคงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรามีหน้าที่ต้องตรวจสอบตรงนี้ มิใช่ว่าส่งใครมาก็ให้ผ่านไป" ส่วนในเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี ท่านตอบว่าเป็นเรื่องของ สส. ต้องไปรวมกันเองให้ได้ 376 เสียง สว.ไม่เกี่ยว

คล้าย ๆ กับ สว.ตวง อันทะไชย เมื่อเราถามว่า สว.จะโหวตตามเสียงข้างมากประชาชนได้หรือไม่ ท่านตอบว่า "คุณอย่าพูดอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ใช่ พูดอย่างนั้นไม่ถูก อย่าดึงผมเป็นคู่กรณี ความขัดแย้งกับก้าวไกลไม่เกี่ยวกับผมเลย เขาเลือกกันทุกพรรค เพื่อไทยเขาก็เลือก เพียงแต่ก้าวไกลได้มากกว่าเท่านั้น ชนะกันไม่กี่แต้ม เชื่อว่าเขาตั้งได้ เขาเก่งอยู่แล้ว มันไม่เกี่ยวกับพวกผมเลย แค่เอาเสียงของเขามารวมกันให้เกินที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ สว.ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย"

นี่ก็คือท่าทีอันแตกต่างออกไปของ สว. ที่มีทั้งแนวนิ่งเฉย ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับ สว. อีกท่าทีหนึ่งก็คือการเลือกโหวตตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คำถามก็คือ สว.กลุ่มนี้จะมีมากพอที่จะสนับสนุนนายกฯที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชนหรือไม่ คำตอบนี้จะได้รู้กันไม่เกิน 60 วันหลังจากนี้

เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย ได้ที่ www.ch7.com/election2566

ช่องทางโซเชียลมีเดีย
Facebook : www.facebook.com/Ch7HDNews
Twitter : www.twitter.com/Ch7HD
IG : www.instagram.com/ch7hd_news
TikTok : www.tiktok.com/@ch7hd_news
Youtube : www.bit.ly/youtubech7hd

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark