ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : มารู้จัก หนี้ ที่คนไทยต้องแบกรับ

ประเด็นเด็ด 7 สี - หนี้อะไรบ้าง ที่ประชาชนคนไทยต้องแบกรับไว้ ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ จะอธิบายให้ฟัง ติดตามได้ใน ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

แทบจะเรียกได้ว่าหนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าจะเพศใด วัยไหน จะยากดีมีจน ต่างก็มีหนี้ร่วมกัน นั่นก็คือ "หนี้สาธารณะ" และอีกหนี้ ที่เรียกกันว่า "หนี้ครัวเรือน" หนี้ 2 ประเภทนี้ มาจากอะไร มีความสำคัญอย่างไร และสะท้อนภาวะใดในระบบเศรษฐกิจกันแน่ เรามาทำความรู้จักให้มากขึ้น

ความแตกต่างที่ชัดเจน ของ 2 หนี้นี้ คือ "ผู้กู้" และ "แหล่งที่มาของเงินทุน" อธิบายแบบง่าย ๆ ในส่วนของผู้กู้ก่อน "หนี้สาธารณะ" ผู้กู้ คือ รัฐบาล ที่ไปกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา หรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ส่วน "หนี้ครัวเรือน" ผู้กู้ก็คือ บุคคลธรรมดา หรือประชาชน ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยภายในประเทศ เป็นการกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายต่าง ๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ

ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนนั้น "หนี้สาธารณะ" มีแหล่งเงินทุน 2 ประเภท ได้แก่ แหล่งเงินทุนในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์ และกองทุนต่าง ๆ และแหล่งเงินทุนต่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) หรือรัฐบาลต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA)

คราวนี้ มาดูหนี้ที่ประชาชนอย่างเราเป็นผู้กู้มาเอง อย่าง "หนี้ครัวเรือน" แหล่งที่มาของเงินทุน มาจากสถาบันการเงิน 2 กลุ่มด้วยกัน คือ สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันรับฝากเงินอื่น ๆ

ส่วนอีกกลุ่ม คือ สถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ non-bank ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน โรงรับจำนำ และสถาบันการเงินอื่น ๆ

หากพิจารณาให้ดี ไม่ว่าจะหนี้สาธารณะ หรือ หนี้ครัวเรือน ล้วนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ในช่วงที่เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะรัฐต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อประคองเศรษฐกิจ ส่วนประชาชนก็ต้องขวนขวายเงินมาใช้จ่าย ให้ก้าวข้ามความเดือดร้อนไปให้ได้เช่นกัน

ซึ่งหลายคนอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมประชาชนต้องกลายเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบหนี้สาธารณะ ที่รัฐบาลเป็นผู้กู้ คำตอบก็เพราะ นั่นเป็นการกู้ยืมเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ แล้วเงินที่รัฐบาลนำไปจ่ายแก่เจ้าหนี้ ก็คือ เงินภาษี ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาล นั่นเอง

การก่อหนี้สาธารณะ อาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป หากอยู่ภายใต้ เพดานหนี้ที่เหมาะสม ดังนั้น การขยายเพดานหนี้ แบบไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน จะทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ ซ้ำเติมความยากลำบากของประชาชนมากขึ้นไปอีก

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark