ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ห่วงภัยแล้งยาวนาน คนไทยเตรียมรับมือ

เจาะประเด็นข่าว 7HD - 22 พฤษภาคมนี้ ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่นักวิชาการหลายคนห่วง คือ ภัยแล้งที่จะตามมา หากฤดูฝนนี้ ภาครัฐกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ

ฤดูฝนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว และน้อยกว่าค่าปกติ 5 % อีกทั้งประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง จากนั้นช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน จะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และปีนี้ จะมีพายุเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและอีสาน 1-2 ลูก ในช่วงปลายฤดูฝน และฤดูฝนจะไปสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม

รองศาสตราจารย์ วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นห่วงภัยแล้งหลังฤดูฝน น่ากังวลกว่าน้ำท่วม เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ สภาพอากาศจะร้อนขึ้น และมีฝนตกน้อย

ประเทศไทย น่าเป็นห่วงพื้นที่นอกระบบชลประทาน มีอยู่ 74% สิ่งที่เกษตรกรควรทำ คือ จัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยประเมินจากความต้องการของพืชสวนไร่นา เพื่อฝ่าวิกฤตภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง และจากข้อมูลสถานการณ์เอลนีโญ ในรอบ 70 ปี พบว่า ภัยแล้งระยะสั้น จะใช้เวลาอยู่นานถึง 8 เดือน แต่ในระยะยาว จะอยู่ยาวถึง 19 เดือน

นั่นหมายความว่า หากประเทศไทย เจอภัยแล้งในระยะสั้น ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมาก แต่หากเจอภัยแล้งในระยะยาว น่าเป็นห่วงปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย จะได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่

ถึงเวลานี้ ภาครัฐต้องทำความเข้าใจ ให้ประชาชนรับทราบถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจลงทุนเพาะปลูก รวมถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้น้ำเป็นกำลังการผลิต ต้องเตรียมน้ำสำรองไว้

ข้อเสนอแนะที่ภาครัฐทำได้ คือ แจ้งให้เกษตรกร ขุดบ่อกักเก็บน้ำ เอาไว้ใช้สู้ภัยแล้ง ส่วนเรื่องเงินทุน ภาครัฐจะต้องปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรฝ่าวิกฤตภัยแล้งไปด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark