ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ก้าวไกล มั่นใจ ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาลได้ ไร้อุปสรรค

เจาะประเด็นข่าว 7HD - พรรคก้าวไกล เดินหน้าทำความเข้าใจกับ สว. หวังให้สนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน เชื่อว่า การลงนาม MOU วันพรุ่งนี้ จะผ่านฉลุย ไร้อุปสรรค

ก้าวไกล มั่นใจ ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาลได้ ไร้อุปสรรค
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ประสานงานจัดตั้งรัฐบาล ระบุว่า ในวันนี้ ได้นัดหารือกับตัวแทนแต่ละพรรคการเมือง โดยเป็นการพูดคุยทีละพรรค เพื่อกำหนดรายละเอียดเนื้อหาใน MOU ที่จะมีการลงนามร่วมกันในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ไม่มีปัญหาใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยในส่วนของพรรคประชาชาติ แม้จะมีเสียงคัดค้านเรื่องของร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่มั่นใจว่า จะหาทางออกร่วมกันได้

ส่วนความคืบหน้าในการเดินหน้าทำความเข้าใจกับ สว. นั้น ถือว่า มีทิศทางไปในทางบวกมากขึ้น หลังได้พูดคุยกับ สว.บางส่วนไปบ้างแล้ว และยังมีนัดหมายเพิ่มเติมอีก โดย สว.หลายท่าน ระบุว่า จะขอดูความชัดเจนของ MOU ที่จะลงนามวันพรุ่งนี้ด้วย

ธนกร แนะจัดตั้งรัฐบาล คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศ
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เรียกร้องให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ คำนึงถึงประชาชน มากกว่าประโยชน์ทางการเมือง และควรทำตามที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ กรณีประเด็นมาตรา 112 ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมเป็นฝ่ายค้าน และให้เกียรติพรรคที่ได้รับเลือกจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล

พิธา ขึ้นรถแห่ขอบคุณชาวชลบุรี เลือกก้าวไกลเกือบยกจังหวัด
ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลในวันนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พร้อมด้วย ว่าที่ สส.จังหวัดชลบุรี ได้ขึ้นรถแห่ขอบคุณชาวชลบุรี ที่เลือกพรรคก้าวไกลจนชนะการเลือกตั้งมาได้ถึง 7 เขต จาก 10 เขตเลือกตั้ง โดยตลอดเส้นทาง มีผู้สนับสนุนมารอให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด สลับกับมีฝนตกเป็นบางช่วง แต่กลุ่มผู้สนับสนุนก็ไม่ถอย บางคนบอกว่าต้องการรอให้กำลังใจ เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้โดยเร็ว และพร้อมสนับสนุนให้ นายพิธา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

จากนั้น นายพิธา ได้เดินทางต่อไปที่จังหวัดระยอง เพื่อขึ้นรถแห่ขอบคุณชาวระยอง ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลจนสามารถเอาชนะคู่แข่ง ตระกูลปิตุเตชะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 5 เขต ชนะการเลือกตั้งยกจังหวัด

เรืองไกร เตรียมยื่นหลักฐานเพิ่ม สอบ พิธา ถือหุ้นสื่อ
ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ จะยื่นเอกสารเพิ่มเติมกับ กกต. กรณีการถือครองหุ้นสื่อของ นายพิธา โดยเอกสารดังกล่าว เป็นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ITV ที่มีชื่อ นายพิธา เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยจากเอกสารดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตว่า นายพิธา ย่อมรู้อยู่แล้วว่าตนเองมีหุ้น ITV อยู่ และไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง สส. เมื่อปี 2562 แต่เป็นการแจ้งเพิ่มเติมในภายหลัง และอ้างว่าอยู่ในสถานะผู้จัดการมรดก ซึ่ง นายเรืองไกร เชื่อว่า หลักฐานดังกล่าวนี้จะช่วยให้ กกต. พิจารณาได้เร็วขึ้น และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของ นายพิธา ได้

โพลชี้ ประชาชนยังเลือกพรรคเดิม หากมีการเลือกตั้งใหม่
นิด้าโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกรณีความพอใจกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 59.08 ระบุว่า พอใจมาก รองลงมา ร้อยละ 26.87 ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 8.86 ไม่ค่อยพอใจ และร้อยละ 5.19 ระบุว่า ไม่พอใจเลย

ส่วนความพึงพอใจต่อผลการเลือกตั้งในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า ร้อยละ 59.39 พอใจมาก ร้อยละ 30.07 ค่อนข้างพอใจ มีเพียงร้อยละ 3.59 ที่ระบุว่าไม่พอใจเลย อย่างไรก็ตาม หากจะต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง มีประชาชนกว่าร้อยละ 86.49 ระบุว่า จะเลือกเหมือนเดิมทั้ง สส.แบบแบ่งเขต และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่ร้อยละ 6.03 ระบุว่า เลือกใหม่หมดทั้ง 2 แบบ

กลุ่มผู้ชุมนุม นัดรวมตัวหน้ารัฐสภา 23 พ.ค.นี้
ล่าสุด เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ชวนประชาชนร่วมชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เพื่อกดดันให้ สว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมติของประชาชน หลังมีแนวโน้มว่า สว. บางส่วนอาจไม่ยกมือสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อความระบุว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่สามารถสะท้อนความต้องการและเจตจำนงของประชาชน เมื่อเสียงของประชาชนต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ตามหลักการของประชาธิปไตย ก็ควรต้องเป็นไปตามนั้น แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแหล่งที่มาในอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวโยงกับประชาชน

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบประวัติและความประพฤติทางจริยธรรม ส่วนการหารือเรื่องท่าทีของ สว. ต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะไม่มีการหารือในที่ประชุมวุฒิสภา แต่อาจมี สว. บางกลุ่มนัดหารือนอกรอบ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark