ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ฝ่าดรามา ปล่อยปลาดุกลงเจ้าพระยา ได้บุญ หรือบาป

เช้านี้ที่หมอชิต - ดรามาเรื่องทำบุญปล่อยปลา 4,000 กิโลกรัม เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อว่าเพียงเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อยากจะทำบุญ แต่ว่าอาจจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออย่างไร เพราะบุญที่ทำ สุดท้ายกลับกลายมาเป็นกรรม ที่กระทบไปถึงชีวิตอีกนับร้อยนับพัน ในแม่น้ำลำคลอง เรื่องนี้นักวิชาการฟันธง ว่า เป็นบาป และจะกระทบกับระบบนิเวศโดยอย่างหนัก อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างเด็ดขาด 

กลายเป็นกระแสดราม่าอย่างหนักกับการปล่อยปลาดุก 4 ตัน ลงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันวิสาขบูชา ที่ผ่านมา เพราะแทนที่จะได้บุญกลับกลายเป็นสร้างกระแสวิพากวิจารณ์เป็นวงกว้างในโซเชียลมีเดีย ที่พากันตั้งคำถามว่า กิจกรรมปล่อยปลา 4,000 กิโลกรัม ที่จัดขึ้นที่วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันวิสาขบูชา นั้น มันเป็นการทำบุญ หรือ ทำบาปกันแน่?

เพราะทันทีที่กิจกรรมนี้จบลง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังขึ้นตามมาอย่างหนักหน่วง หลายคนบอกว่า เห็นแล้วเศร้าใจมาก และสงสารปลาเล็กปลาน้อยที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะถูกปลาดุกเหล่านี้ ซึ่งเป็นปลาเอเลี่ยน สปีชี่ ไล่กิน จนอาจจะถึงขั้นสูญพันธุ์ได้

กิจกรรมนี้ ได้บุญ หรือ ได้บาป กันแน่ ปลาที่ปล่อยลงไป สุดท้ายแล้วเป็นอย่างไร รอดชีวิตหรือเปล่า ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ไปสำรวจที่บริเวณใต้สะพานพุทธฯ พบว่าหลังกิจกรรม มีปลาดุกส่วนหนึ่งลอยตายอยู่ในที่จัดงาน บางส่วนก็ถูกชาวบ้านตกขึ้นมาทำเป็นปลาดุกตากแห้ง แม่ค้าบริเวณนี้ ให้ข้อมูลว่า จุดนี้มีคนมาปล่อยปลากันมาก และปลาที่ปล่อยส่วนใหญ ก็เป็นปลาดุก ทั้งสิ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะชาวเน็ต เท่านั้น ที่เป็นกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนักวิชาการสายประมงและสิ่งแวดล้อม คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เปิดเผยกับทีมข่าวเช้านี้ที่หมอชิต ว่า หนักใจกับเรื่องนี้มาก เพราะจากที่เห็นปลาดุกที่ปล่อยเป็นปลาดุกพันธุ์บิ๊กอุย ถือเป็นเอเลี่ยน สปีชี่ ปลาจำนวนมากขนาดนี้ มาจากฟาร์มเลี้ยง การปล่อยปลาจำนวนมากแบบนี้ลงแม่น้ำ มีผลกระทบโดยตรง ทั้งกับปลาที่ปล่อย รวมถึงสัตว์น้ำท้องถิ่นในแม่น้ำจะได้รับผลกระทบแน่นอน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ ธรณ์ ยังบอกอีกว่า ปัญหาเอเลี่ยน สปีชี่ เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากในประเทศไทย เพราะสัตว์น้ำที่ปล่อยลงแหล่งน้ำไปแล้ว เป็นเรื่องลำบากมากที่จะไปจับกลับขึ้นมาได้ และหากจะรอให้กรมประมง มาคอยเข้มงวดกวดขันก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ส่วนประชาชนจะสามารถช่วยกันป้องกันปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า สายพันธุ์สัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ เช่น ปลาดุกอัฟริกัน, ปลาดุกลูกผสม, กุ้งเครย์ฟิช, เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ, ปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล และปลาหมอสีคางดำ

ฝากช่วยกันพิจารณา เพราะสัตว์น้ำเหล่านี้ ถือเป็นสัตว์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยน สปีชีส์ ที่จะเข้าไปคุกคามสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทย ทำให้มีจำนวนลดลง และอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ อย่าให้การทำบุญต้องกลายเป็นได้บาปมาแทน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark