ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : เทียบ ค่าแรง ไทย ในตลาดเอเชีย

ประเด็นเด็ด 7 สี - ระหว่างที่ นโยบายปรับขึ้นค่าแรง ยังไม่ชัดเจน พาคุณผู้ชมไปสำรวจค่าแรงของประเทศอื่น ๆ ในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ กับคุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 กระทรวงแรงงาน เพิ่งจะอนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เฉลี่ยประมาณ 5 % หรือสูงสุดที่วันละ 354 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ก็ถือว่าค่าแรงของเราไม่มากไป ไม่น้อยไป แต่นโยบายพรรคการเมือง ก็จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก เดี๋ยวเราไปดูเรื่องนี้กัน

ที่ผ่านมามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยมาก สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบหลายปี ทำให้ข้าวของแพงขึ้นกระทบค่าครองชีพ จึงเป็นเหตุผลหลักในการที่นักการเมือง หยิบยก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท มาใช้ ซึ่งน่าจะเป็นนโยบายที่จะช่วยเหลือแรงงานผู้มีรายได้น้อย และอาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยลงได้

มาดูค่าแรงของแต่ละประเทศในเอเชีย กันก่อน เมื่อเทียบ 12 ประเทศในเอเชีย ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน สูงสุด คือ เกาหลีใต้ วันละ 2,016.54 บาท หรือ 76,960 วอน, รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 1,916.69 บาท หรือ 7,688 เยน, อันดับถัดมา คือ ฮ่องกง ค่าแรงขั้้นต่ำต่อวัน 1,319.71 บาท หรือ 300 ดอลลาร์ฮ่องกง, ส่วน ไทย อยู่ในอันดับ 7 ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน อยู่ที่วันละ 328-354 บาท

ซึ่งยังถือว่าสูงกว่าอีกหลายประเทศ ทั้ง ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, กัมพูชา, เมียนมา และอินเดีย ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน ต่ำสุดในเอเชีย แค่วันละ 74.23 บาท เท่านั้น

ภาคเอกชนเองก็ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรง กระทบกับธุรกิจแน่นอน เพราะค่าแรง เป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิต เมื่อค่าแรงเพิ่ม หมายความว่าต้นทุนการผลิตก็เพิ่มตาม โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย ซึ่งเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 หรือในธุรกิจที่เน้นใช้แรงงานคนเป็นหลัก แม้จะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพื่อให้ค่าแรงสอดรับไปกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ โดยเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงแบบ Pay by Skill หรือ ตามทักษะและศักยภาพในการทำงาน

สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย มองว่าควรปรับขึ้นค่าแรงทีละสเต็ป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสได้ปรับตัว เพราะหากปรับขึ้นรุนแรงทันที อาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมา ทั้งศักยภาพในการแข่งขัน และอาจนำไปสู่การลดการใช้แรงงาน หันไปใช้เครื่องจักรแทน ทำให้คนตกงานมากขึ้น รวมไปถึงแนวโน้มการลงทุน แม้นโยบายปรับขึ้นค่าแรงจะไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่ก็มีส่วนที่ทำให้บางบริษัท ตัดสินใจ ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรง ต่ำกว่า

ในทางปฏิบัติยังต้องรอดูการพิจารณาจากหลายฝ่าย สุดท้ายแล้วคณะกรรมการไตรภาคี จะยังคงมีความหมายอยู่หรือไม่ แต่ทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง จะสะเทือนไปถึงราคาสินค้า ที่ต้องปรับสูงขึ้นตามด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark