ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คัดแยกตำรวจ ทล. 40 นายรับส่วย เอาผิดจริง 12 นาย

ข่าวภาคค่ำ - รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ออกมายืนยันว่าตำรวจทางหลวง 40 นายที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก มีทั้งตำรวจที่รับรู้ถึงพฤติการณ์ของตำรวจที่ถูกกล่าวหา แต่ว่าไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด และผู้ประกอบการที่เคยจ่ายส่วยให้ ซึ่งทั้งหมดถูกกันไว้เป็นพยานในคดี มีเพียง 12 นายเท่านั้นที่เกี่ยวข้องจริง ๆ

หลังจากรักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งให้โยกย้ายข้าราชการตำรวจทางหลวง ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก และเรียกรับผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวน 40 นาย ประกอบด้วย ตำแหน่งรองผู้กำกับการ 1 นาย, รองสารวัตร 17 นาย และระดับชั้นประทวน 22 นาย ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบังคับการตำรวจทางหลวง โดยมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

ล่าสุด พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และรักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า การที่สามารถยืนยันตัวตนและระบุตำรวจต้องสงสัยทั้ง 40 นายนั้น มาจากพยานบุคคล ซึ่งมีทั้งตำรวจที่รับรู้ถึงพฤติการณ์ของตำรวจที่ถูกกล่าวหา แต่ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด และผู้ประกอบการที่เคยจ่ายส่วยให้ ซึ่งทั้งหมดถูกกันไว้เป็นพยานในคดี ระหว่างนี้พนักงานสอบสวนกำลัง รวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากที่เริ่มทำคดี เพื่อส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิด

อย่างไรก็ตาม ตำรวจทางหลวงที่ถูกกล่าวหาทั้ง 40 นาย ในจำนวนนี้มี 12 นายที่ถูกดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ฐาน "เป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับ หรือ ยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" เพราะก่อนหน้านี้เคยถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเรียกรับเงินสินบนอื่น ๆ จากผู้ประกอบการรถบรรทุกมาแล้ว

ขณะที่ทาง "นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ส่วยสติกเกอร์ รถบรรทุก" เก็บตัวอย่าง 1,310 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 82.90 ระบุว่า ปัญหาเกิดจากมีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ส่วนสาเหตุ ร้อยละ 73.36 ระบุว่า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง, รองลงมา เพื่อเพิ่มกำไรในธุรกิจขนส่ง และขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน

ส่วนประเด็นเรื่องข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก พบว่า ร้อยละ 60.76 ระบุว่า เชื่อว่ามีจริง, รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 10.08 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ร้อยละ 75.55 ระบุว่า เจ้าของรถบรรทุกยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ, ร้อยละ 75.11 ระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องการหาผลประโยชน์ และ ร้อยละ 26.13 ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark