ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

กกต. รับทราบผลการเลือกตั้ง สส. 330 เขต แต่ยังไม่รับรองผล

เช้านี้ที่หมอชิต - กกต. รับทราบผลการเลือกตั้ง สส. 330 เขต ที่ไม่มีการร้องเรียน แต่ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้ง ต้องรอข้อมูลครบ 95 % จึงประกาศได้ คาดเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกต. เมื่อวานนี้ มีมติรับทราบรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้น ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน และเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ที่ กกต. สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้จำนวน 330 เขต ตามที่สำนักงาน กกต. เสนอ แต่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส 2561 มาตรา 127 กำหนดให้ กกต. ประกาศรับรองผลได้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด จึงให้สำนักงานฯ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เหลือให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และเสนอให้ กกต. พิจารณาในคราวเดียว

ทำให้ยังไม่มีการประกาศรับรองผล สส.รายใด คาดว่าสำนักงานฯ จะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อรับรอง สส. ทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อให้ครบ แต่หากไม่ครบในสัปดาห์หน้า ก็จะเป็นการนำเรื่องเข้าที่ประชุมอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป

ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในวันนี้ เวลา 14.00 น. กลุ่มจับตาการเลือกตั้ง หรือ WeWacth จะเดินทางไปที่สำนักงาน กกต. เพื่อยื่นร้องให้ กกต. เร่งรับรองผล สส.โดยเร็ว

ลองไปย้อนดูระยะเวลาการรับรองผลการเลือกตั้ง โดยเปรียบเทียบกันหน่อย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะเห็นว่าใช้เวลาในการรับรองผลการเลือกตั้งค่อนข้างนาน จนหลายฝ่ายสะท้อนว่า อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ขณะที่ รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจในหลายเรื่อง ซึ่งหากย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง สส. 3 กรกฎาคม 2554 จะเห็นว่าใช้เวลาประกาศรับรองผลหลังเลือกตั้งใน 7 วันเท่านั้น ขณะที่ในการเลือกตั้งปี 2562 ใช้เวลาประกาศรับรองนานถึง 43 วัน การเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่ง ใช้เวลา 23 วัน การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และ สก. ใช้เวลา 7 วัน ส่วนเลือกตั้ง สส.ครั้งล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ผ่านมาแล้ว 30 วัน ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งว่ากันว่าอาจต้องรอไปอีกถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

ช้าแบบนี้ ไปส่องงบประมาณกันหน่อย งบประมาณการจัดการเลือกตั้งรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าจากเดิมใช้งบประมาณในการเลือกตั้งอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท แต่ในงบประมาณการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ใช้งบสูงถึง 5,945,161,000 บาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร หรือการรับรองผลเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด เช่นเดียวกับเรื่องความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง หรือการนับคะแนน ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark