ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ก้าวไกล ชี้ทางออกปม หยก ทุกฝ่ายต้องร่วมออกแบบกติกา รร.

เช้านี้ที่หมอชิต - เป็นประเด็นถกเถียงอย่างต่อเนื่องสำหรับกรณีของ "น้องหยก" นักกิจกรรมทางการเมืองอายุ 15 ปี ที่ทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้เข้าจนต้องปีนรั้วบ้าง ปีนหน้าต่างบ้างเพื่อเข้าไปเรียน ขณะที่โรงเรียนชี้แจงเหตุผลว่า เป็นเพราะกระบวนการมอบตัวของหยก ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้ปกครองที่มามอบตัวไม่ใช่พ่อแม่ อีกทั้งยังทำผิดระเบียบของโรงเรียนในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นย้อมสีผม หรือ แต่งชุดไปรเวต มาเรียน ทำให้โรงเรียนไม่สามารถให้สถานะนักเรียนแก่ หยก ได้

ล่าสุด โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เพื่อยืนยันเหตุผลที่ไม่รับ หยก เข้าเรียนอีกครั้งหนึ่ง เนื้อหาแถลงการณ์ฉบับนี้ ระบุว่า หยก ไม่มีสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียน เนื่องจากการมอบตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ที่กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องมามอบตัวที่โรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง (ผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546) ส่วนสิทธิในการศึกษาต่อของ หยก ยังมีหน่วยงานทางการศึกษาอื่นที่สามารถดูแลต่อตามเหมาะสม และต้องการได้ และระบุด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง รวมทั้งอาคารสถานที่และทรัพย์สินอื่น ๆ ของโรงเรียน จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

แถลงการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคมอีกครั้ง ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยในกรณีการตีความคำว่า "ผู้ปกครอง" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่โรงเรียนอ้างถึงนั้น นายอานนท์ นำภา ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ผู้ปกครอง หมายความว่า บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึง พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพนายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่น ซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดู หรือ ซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย

"เรื่องมอบตัวเขาคำนึงถึงสวัสดิภาพเด็กเป็นสำคัญ เด็กอยู่กับใครคนนั้นก็ถือเป็นผู้ปกครองที่พาไปมอบตัวที่โรงเรียนได้ ไม่ได้ซีเรียสว่าต้องเป็นพ่อแม่จริงๆ หรือต้องให้ศาลสั่งแบบกฎหมายแพ่ง ข้อเท็จจริง คือ หยก พักอาศัยอยู่กับบุ้ง บุ้งก็พาไปมอบตัว เราอาจเข้าใจว่า บุ้ง ยังเด็ก จริง ๆ แล้ว บุ้ง อายุ 27 แล้วครับ เขาทำงานมีรายได้ ขั้นตอนการมอบตัวก็ผ่านไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่โรงเรียนจะอ้างได้ เรื่องนี้ต้องตีความเพื่อประโยชน์เด็ก ไม่ใช่ตีความเพื่อกีดกันเด็กออกจากระบบการศึกษา"

ขณะที่ พรรคก้าวไกล มีแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กพรรคเรื่อง "การเดินหน้าสู่ทางออก เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา" สรุปความว่า พรรคก้าวไกลมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นแค่เรื่องของหยก หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของหลักการ ที่เราต้องกำหนดร่วมกันสำหรับเยาวชนทุกคนในทุกสถานการณ์ในอนาคต และต้องการหาทางออกโดยยึด 2 เป้าหมาย

เป้าหมายที่ 1 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองเป็นอย่างไร

สำหรับกรณี หยก เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ ข้อกังวลเรื่องกระบวนการมอบตัวที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีผู้ปกครอง หรือ บุคคลที่ผู้ปกครองมอบหมายอย่างเป็นทางการ มามอบตัวนักเรียนโดยตรงที่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นข้อจำกัด หรือ อุปสรรคที่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับหลักการเรื่องสิทธิในการศึกษาที่ยึดถือเป็นหลักใหญ่

เป้าหมายที่ 2 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนปฏิบัติตามกติกาโรงเรียนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุยและออกแบบร่วมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับบทบาทเชิงรุกในการดูแลว่ากฎระเบียบเหล่านั้นต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน โดยกฎระเบียบใด ๆ ที่มีความเห็นร่วมกันว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงต้องออกข้อกำหนดที่ชัดเจน เพื่อห้ามไม่ให้มีกฎระเบียบดังกล่าว ไม่ปล่อยให้เกิดการถกเถียงระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนกันเองเพียงลำพัง

การเดินหน้าไปสู่ 2 เป้าหมายนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการแก้ปัญหาในกรณี หยก แต่จะยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญสำหรับการรับประกันสิทธิในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพในอนาคต ไม่ทำให้ใครหลุดออกจากระบบการศึกษา และโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและโอบรับทุกคน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark