ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เจ้าของแมว เศร้า นำแมวไปบริจาคเลือดแล้วตาย อ้าง รพ. นำเลือดไปเกินปริมาณ

ข่าวสังคม 22 มิถุนายน 2566 - สนามข่าว 7 สี - ต่อกันที่ข่าวเศร้าของทาสแมว เมื่อจู่ ๆ เจ้าของ ให้น้องบริจาคเลือด ช่วยแมวอีกตัว แต่ใครจะคาดคิด "น้องไม่รอด" และคุณผู้ชมเชื่อหรือไม่ว่า สถานการณ์เลือดที่ไว้รักษาสัตว์เลี้ยง เรียกว่าขาดแคลนหนักจนทำให้น้อง ๆ ตายกันไปรายวัน แต่ก่อนอื่นไปไล่เรียงปมการตายของน้องแมวที่บริจาคเลือดกันก่อน

อย่างที่เกริ่นตอนต้น ข่าวเศร้าของน้องแมวตัวหนึ่ง ที่เจ้าของ คือ คุณมัลลิกา อายุ 56 ปี ตัดสินใจให้แมวของเธอ อายุ 3 ปี เพศผู้ สายพันธุ์ Scottish fold ราคากว่าแสนบาท เป็นผู้บริจาคเลือด เพื่อช่วยเหลือแมวอีกตัวหนึ่ง ตามที่มีผู้ร้องขอ คือ นางสาวสมหญิง ซึ่งโพสต์ขอความช่วยเหลือไว้ในโซเชียล

กระทั่งเจ้าของทั้ง 2 ฝ่าย พูดคุยนัดแนะกันเรียบร้อย ทางคุณสมหญิง ก็มารับตัวน้องแมวผู้บริจาค ไปที่โรงพยาบาลรักษาสัตว์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจร่างกายและตรวจเลือด (13 มิ.ย.) ว่าจะเข้ากันได้ไหมกับแมวของตน จนผลพบว่า เลือดเข้าได้ไม่มีปัญหา และจะขอเลือดจำนวน 40 มิลลิลิตร (ml.) แต่คุณมัลลิกาไม่อนุญาต จึงนำแมวผู้บริจาคกลับมาอีกครั้งวันรุ่งขึ้น (14 มิ.ย.) ที่โรงพยาบาลเดิม

แต่ก็เกิดเหตุไม่คาดคิด เมื่อแมวผู้บริจาคตาย โดยทั้งคุณมัลลิกา และคุณสมหญิง ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากสัตวแพทย์ประมาทหรือไม่ หนำซ้ำยังละเมิดด้วย เพราะไม่มีการให้เซ็นเอกสารขออนุญาตให้วางยาสลบ จึงออกมาร้องต่อสื่อมวลชน หลังจากพยายามสอบถามกับโรงพยาบาล เพื่อให้รับผิดชอบแต่ก็ไม่มีคำตอบใด ๆ

ฟังแบบนี้แล้วก็มีเงื่อนงำอยู่ เบื้องต้นเจ้าของแมวได้ส่งน้องไปชันสูตรหาสาเหตุการตายที่แท้จริงจะทราบผลภายใน 7 วัน และจากปมสงสัยดังกล่าว ทีมข่าวของเราก็สอบถามไปที่โรงพยาบาลคู่กรณี แต่ทางโรงพยาบาลยังไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงใด ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ

จากเหตุนี้ ทีมข่าวสอบถามเพิ่มกับนายสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ก็เผยว่า ไม่อยากให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งน้องแมว และน้องหมา ตื่นตระหนกกับการจะนำสัตว์เลี้ยงไปบริจาคเลือด เนื่องจากปัจจุบันสัตว์เลี้ยงทั้ง 2 ชนิด ตกอยู่ในภาวะรอคอยเลือดเพื่อรักษาอาการป่วย และอาการบาดเจ็บ ชนิดที่ว่าขาดแคลนอย่างหนัก จนน้อง ๆ ต้องตายไปรายวัน

น้อง ๆ ที่ป่วยและคอยเลือด 10 ตัว มีเพียง 1 ตัว ที่เข้าถึงเลือดได้ ฟังแบบนี้แล้ว นายสัตวแพทย์เกษตร ก็ย้ำว่า อยากให้ทุกท่านมั่นใจในมาตรฐานวิชาชีพนี้เพราะการนำเลือดออกจากตัวน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงไม่ใช่เพียงทำกันในไทย แต่ทำมานานแล้วกว่า 30 ปี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark