ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

นักวิจัยจุฬาฯ พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อ ชี้เครียดจัด-ซึมเศร้า

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ทีมวิจัยจุฬาฯ ค้นพบ กลิ่นของเหงื่อ บอกระดับความเครียด ช่วยบ่งชี้อาการป่วย โรคเครียดสูง และโรคซึมเศร้าเรื้อรัง เหมาะสำหรับนำไปใช้ตรวจ ทหาร ตำรวจ และนักดับเพลิง หลังพบว่าเป็นกลุ่มทำงานบนความเครียดสูง

ทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชฎิล กุลสิงห์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และทีมงาน ค้นพบกลิ่นของเหงื่อ ช่วยบอกระดับความเครียดเป็นครั้งแรก จากการเก็บตัวอย่างเหงื่อของนักผจญเพลิง ใน 48 สถานี กทม. ประมาณ 1,000 ตัวอย่าง เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำงานบนความเสี่ยง แข่งกับเวลา เพื่อช่วยเหลือประชาชน จึงมักพบผู้ที่มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าเรื้อรัง

หลักการ คือ สารเคมีในสมองที่มีความสัมพันธ์กับเหงื่อจะถูกขับออกมาในรูปแบบของกลิ่นกาย สังเกตได้ว่าแต่ละคนจะมีกลิ่นตัวที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละกลิ่นสามารถระบุได้ว่าบุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอะไร เช่น โรคเบาหวาน, โควิด-19 รวมทั้งโรคมะเร็ง

สำหรับกลิ่นของโรคเครียดสะสม และซึมเศร้าเรื้อรัง ลักษณะคล้ายกลิ่นน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณมาก ต้องใช้ความชำนาญพิเศษหากจะสูดดมด้วยจมูก รวมถึงใช้สุนัขที่มีประสาทสัมผัสสูงถึงจะสัมผัสกลิ่นได้

ทั้งนี้ ทีมวิจัยใช้เครื่องมือชื่อว่า "แก๊สโครโมโนกราฟฟี่" (Gas Cromonography) ช่วยแยกไอระเหยของเหงื่อ และอ่านค่าของสารเคมีที่ระเหยออกมา แปลเป็นค่าความเครียดของแต่ละคนที่มีระดับต่างกัน ให้ความแม่นยำได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์   

หลังจากการเก็บตัวอย่างในกลุ่มอาชีพนักผจญเพลิงแล้ว จะขยายผลไปยังกลุ่มอาชีพ ที่มีการครอบครองอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือ ตำรวจ เพื่อสกัดเหตุการณ์ การใช้ความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมเหมือนที่ผ่านมา

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark