ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

อาลัยหมอมีน ประสบอุบัติเหตุ หลังออกเวร

เจาะประเด็นข่าว 7HD - พ่อของแพทย์หญิงจบใหม่ ที่เพิ่งทำงานเป็นแพทย์อินเทิร์น ได้ 23 วัน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หลังออกเวร เรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ปัญหาภาระงานของแพทย์ที่หนักเกินไป มีความเสี่ยง

จากกรณีแพทย์หญิง ญาณิศา สืบเชียง หรือ หมอมีน แพทย์อินเทิร์นปี 1 ของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี ที่ไปประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์หลังจากออกเวร ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา 

ที่ศาลาสวดพระอภิธรรมศพ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีศพของ แพทย์หญิงญาณิศา สืบเชียง หรือ หมอมีน เป็นนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยมหิดล เรียนแพทย์มา 6 ปี และได้เป็นแพทย์อินเทิร์นปี 1 พอออกเวรไปตอนเย็น คุณหมอมีน ขับรถออกจากโรงพยาบาลจะมุ่งหน้าไปยังพื้นที่อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจะไปดูสถานที่ของโรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกลไปกว่า 100 กิโลเมตร ตามความตั้งใจที่จะไปทำหน้าที่เป็นแพทย์อินเทิร์นปี 2 

พ่อของหมอมีน เล่าว่า ลูกสาวเป็นคนตั้งใจทำงาน บางครั้งก็เข้าเวรติดต่อกันจนไม่ได้กลับบ้าน ส่วนก่อนเกิดเหตุนั้นไม่รู้ว่าลูกสาวได้เข้าเวรติดต่อกันถึง 4 กะจริงหรือไม่ ในฐานะพ่อ อยากจะฝากไปถึงผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงโรงพยาบาล ให้ดูแลจัดตารางเวรการปฏิบัติงานของหมอทุกคนให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันจนร่างกายเกิดอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจนรับไม่ไหว แม้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากความไม่ชำนาญเส้นทางด้วย

ขณะที่ พลอากาศตรีนายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีของหมอมีนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ขอให้ท้องถิ่น และทางหลวงช่วยแก้ไข จุดเสี่ยงอุบัติเหตุแยกมอตาเขียว อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่เกิดความสูญเสียของครอบครัวอื่น ๆ อีก  

ส่วนการที่อยู่เวรยาวนานของแพทย์จะส่งผลให้เกิดความผิดพลาด และเสี่ยงอุบัติเหตุ แพทยสภาจึงจำกัดเวลาการทำงานนอกเวลาของแพทย์ เริ่มที่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ หมออินเทิร์น ไม่ให้ทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง โรงพยาบาลต้องรีบบรรจุแพทย์ให้เพียงพอสลับเวร ดูแลรักษาคนไข้

เคสของหมอมีนนี้ไม่ใช่รายแรกที่ขับรถไปประสบอุบัติเหตุหลังออกเวร สำหรับความพยายามแก้ปัญหาภาระงานหนัก ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข เดินสายหารือกับแพทยสภา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เพิ่มอัตราตำแหน่งราชการ ในวิชาชีพแพทย์ และพยาบาล รวมถึงจัดความก้าวหน้าสร้างขวัญกำลังใจให้คนทำงาน รวมถึงเร่งผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท และในส่วนภูมิภาค

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark