ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

แรงงานยุค AI ยังขาดแคลน ผลิตได้ไม่พอตลาดแรงงาน

เจาะประเด็นข่าว 7HD - กรุงเทพมหานคร ปรับแผนการฝึกวิชาชีพแรงงาน เรียนจบแล้วต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานทันที ขณะที่ ระดับอุดมศึกษา ยังผลิตแรงงานยุคใหม่ได้น้อย ปัจจุบันผลิตได้แค่หลักหมื่น แต่ความต้องการอยู่ที่หลักแสน

แรงงานยุค AI ยังขาดแคลน ผลิตได้ไม่พอตลาดแรงงาน
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนฝึกอาชีพอยู่ 10 แห่ง ได้ปรับแผนหลักสูตรวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่นในปัจจุบัน แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นที่ต้องการ ทางโรงเรียนจึงเปิดสอนวิชาชีพแม่บ้านโรงแรมโดยตรง เพื่อป้อนแรงงานสู่สถานประกอบการทันที และในอนาคต กทม.เตรียมเปิดสอนวิชาชีพดูแลผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมความต้องการสู่สังคมผู้สูงวัย

นักวิชาการ ห่วงอาชีพที่เสี่ยงถูกแทนที่ด้วย AI
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ พิภพ อุดร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงการศึกษายุคต่อไปว่า ควรเป็นการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยให้น้อย ต้องเน้นหาประสบการณ์ และแก้ไขปัญหาได้จริง จากนั้นค่อยกลับมาหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ขาด แทนการเรียนแบบกำหนดกรอบว่า ผู้เรียนต้องผ่านหลักสูตรใดบ้าง ถึงจะสำเร็จในวิชาชีพนั้น ๆ

ด้าน นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันทดลองการเรียนแบบเฉพาะทาง นำร่องใน 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จบภายใน 3 ปี พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน

การเรียนลักษณะนี้ จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ได้แรงงานตามที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบัน สาขาที่ต้องการส่วนใหญ่ คือ ซอร์ฟแวร์, เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบปฏิบัติการ A.I. โดยแรงงานกลุ่มนี้ นับว่าเป็นแรงงานที่ขาดแคลน แต่ละปีสถาบันการศึกษา จะผลิตได้แรงงานออกมาได้ 20,000 - 30,000 คน แต่ความต้องการในตลาดแรงงานยุคใหม่ อยู่ที่ 500,000 - 600,000 คน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark