ค่ำนี้ดูดาว 7 เดือน 7 วันทานาบาตะ ตำนานความรักจากดวงดาว

คลิปที่เกี่ยวข้อง

ค่ำนี้ดูดาว 7 เดือน 7 วันทานาบาตะ ตำนานความรักจากดวงดาว


คืนนี้ 7 เดือน 7 "วันทานาบาตะ" ดูดาวสว่างสามดวง ดาวพิณ ดาวหงส์ ดาวนกอินทรี ตำนานความรักจากดวงดาว  

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยถึง "วันทานาบาตะ" วันที่ 7 เดือน 7 ตำนานความรักจากดวงดาว โดยระบุว่า ถ้าพูดถึง วันวาเลนไทน์ หรือ วันแห่งความรัก แน่นอนทุกคนรู้ว่าคือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ในประเทศญี่ปุ่น วันแห่งความรักคือ วันที่ 7 เดือน 7 หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า วันทานาบาตะ (Tanabata) ซึ่งตำนานวันแห่งความรักของญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวความรักของ “หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า” นิทานเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มดาวพิณ กลุ่มดาวหงส์ และกลุ่มดาวนกอินทรี นอกจากนี้ตำนานวันทานาบาตะยังมีต้นกำเนิดมาจากนิทานเรื่อง 7 นางฟ้าของประเทศจีนอีกด้วย สามารถอ่านเรื่องราวของตำนานได้ในคอมเมนต์

ในวันนี้ ( 7 ก.ค. 66) ช่วงหัวค่ำช่วงนี้ จะสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างเด่นทั้ง 3 กลุ่มดาวนี้ ปรากฏขึ้นมาจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน

สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle) หากเราลองแหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้าในค่ำคืนนี้ จะเห็นดาวสว่างสามดวง เรียงรายกันคล้ายกับสามเหลี่ยมมุมฉากอยู่บนท้องฟ้า เราเรียกสามเหลี่ยมนี้ว่า "สามเหลี่ยมฤดูร้อน" (Summer Triangle) สามเหลี่ยมฤดูร้อนจัดเป็น "ดาวเรียงเด่น" (asterism) ที่รู้จักกันดีอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากสามเหลี่ยมนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แม้ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางแสง และจะโผล่พ้นขอบฟ้าในช่วงที่ตรงกับฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ แสดงถึงการมาของฤดูร้อน อันเป็นที่มาของชื่อ

ดาวสว่างสามดวงที่ประกอบขึ้นเป็นสามเหลี่ยมฤดูร้อน ได้แก่ดาว Vega (บน) Deneb (ซ้าย) และ Altair (ขวา) ซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) หงส์ (Cygnus) และ นกอินทรี (Aquila) ตามลำดับ แม้ว่าเราอาจจะสังเกตเห็นดาว Vega และ Deneb มีความสว่างที่ใกล้เคียงกัน แต่แท้จริงแล้วดาว Vega นั้นอยู่ห่างออกไปจากเราเพียง 25 ปีแสง ในขณะที่ดาว Deneb นั้นอยู่ห่างออกไปถึงประมาณ 2,500 ปีแสง หรือไกลกว่าดาว Vega เกือบร้อยเท่า ทั้งนี้เป็นเพราะดาว Deneb ปลดปล่อยพลังงานออกมามากกว่าดาว Vega ถึงกว่าหนึ่งหมื่นเท่า หรือมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึงเกือบสองแสนเท่านั่นเอง

ท่ามกลางดาวสามดวงนี้ เราจะสามารถสังเกตเห็นแถบกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่พาดผ่าน หากสังเกตด้วยตาเปล่าในท้องฟ้าที่มืดมิดไร้แสงรบกวน เราอาจจะสังเกตเห็นเป็นฝ้า หรือเมฆจางๆ สีขาวขุ่นพาดผ่านสามเหลี่ยมฤดูร้อนนี้ อันเป็นที่มาของชื่อภาษาไทยว่า "ทางช้างเผือก" และชื่อภาษาอังกฤษ "Milky Way" ซึ่งแปลว่าเส้นทางสายน้ำนม ในตำนานของเอเชียตะวันออกไกล มีตำนานพูดถึงเด็กเลี้ยงวัว (แทนด้วยดาว Altair) และสาวทอผ้า (แทนด้วยดาว Vega) ที่ความรักของทั้งสองถูกขวางกั้นเอาไว้โดยแม่น้ำอันกว้างใหญ่ และในหนึ่งปีจะมีเพียงวันเดียวที่จะมีสะพานพาดมาเพื่อให้ทั้งสองได้มาพบกัน อันเป็นที่มาของเทศกาลทานาบาตะที่เรารู้จักกันในประเทศญี่ปุ่น ในความเป็นจริงแล้วนั้น ดาวทั้งสองถูกกั้นด้วยห้วงอวกาศอันอ้างว้างเป็นระยะทางถึงกว่า 16 ปีแสงเลยทีเดียว เมื่อโลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้สามเหลี่ยมฤดูร้อนขึ้นและตกเร็วขึ้นทุกวัน จนไม่สามารถสังเกตได้ในเวลากลางคืนอีกต่อไป เป็นสัญญาณแห่งการสิ้นสุดฤดูร้อน และเข้าสู่ฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ซึ่งอีกสามเหลี่ยมหนึ่ง "สามเหลี่ยมฤดูหนาว" จะโผล่ขึ้นมาแทนที่ เป็นสัญญาณของฤดูหนาวที่กำลังย่างกรายเข้ามาแทน

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก FB : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark