ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ยังต้องเตือนภัยออนไลน์ประชาชน อย่างต่อเนื่อง

เจาะประเด็นข่าว 7HD - อย่างที่เห็นเป็นข่าวกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้เสียหาย ไปแจ้งความว่าถูกหลอกฉ้อโกง ถูกหลอกโอนเงิน เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ยังต้องเตือนภัยประชาชนกันต่อเนื่องต่อไปอีกนาน เพราะมิจฉาชีพเอง ก็ไม่หยุดที่จะหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะมาสร้างความเสียหายกับเหยื่อที่รู้ไม่เท่าทัน

เริ่มจากการดูภาพรวมกันก่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงสรุปสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ในรอบ 1 สัปดาห์ พบว่า 5 อันดับแรกที่มีการร้องเรียนมายังตำรวจมากที่สุด อันดับที่ 1 ยังเป็น คดีหลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ รองลงมาเป็นคดีหลอกลวงให้โอนเงิน เพื่อทำงานหารายได้พิเศษ อันดับ 3 เป็นคดีหลอกให้กู้ยืมเงิน อันดับที่ 4 เป็นคดีหลอกให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ ทางไกล แล้วเข้าไปโอนเงิน และอันดับที่ 5 เป็นคดีเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้การข่มขู่สารพัดวิธีให้เหยื่อกลัว เพื่อที่จะโอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร

ส่วนคดีที่พบว่า เป็นการซ้ำเติมประชาชนมากที่สุดในรอบสัปดาห์ กลับเป็นคดีที่อยู่ในอันดับที่ 7 ที่มิจฉาชีพจะสวมรอยแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน โดยพบว่ามีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาในระบบ 10,425 คดี รวมความเสียหายมากถึงกว่า 370 ล้านบาท และยังพบว่ามีการใช้วิธีปลอมเสียง อ้างตัวว่าเป็นบุคคลใกล้ชิด เช่น จู่ ๆ มีคนโทรมาบอกว่า "ไง จำได้หรือเปล่า นี่เราเอง" "เราเพิ่งเปลี่ยนเบอร์ใหม่" แล้วก็จะสร้างเรื่องชวนคุยอย่างสนิทสนมไปเรื่อย ๆ เพื่อที่สุดท้ายจะขอให้เหยื่อโอนเงินให้

ส่วนการจับกุมก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างล่าสุด ตำรวจสืบสวนนครบาล ไปจับกุมนางสาวบังอร อายุ 41 ปี บัญชีม้าขบวนการโรแมนซ์สแกม ได้ที่หน้าโรงงานแห่งหนึ่งใน ตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หลังพบว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ปลอมตัวเป็นชายต่างชาติใช้ชื่อบัญชีว่า โรลบราวน์ (Rolebrown) เนื้อหาเดิม ๆ คือ ไปตีสนิทเหยื่อ สร้างเรื่องว่า นาย "โรลบราวน์" ถูกจับกุมต้องการใช้เงินช่วยวิ่งเต้นคดี หลอกให้โอนเงินไปช่วยเหลือหลายครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเงินก็เข้าไปในบัญชีของนางสาวบังอร เป็นที่มาที่ตำรวจต้องไปจับกุม ซึ่งพอนำตัวไปสอบสวน เจ้าตัวก็รับว่า ได้เปิดบัญชีธนาคารนี้เมื่อปี 2563 จริง แต่ตอนนั้นเปิดให้กับญาติห่าง ๆ ที่หลอกว่าจะเอาไปใช้ทำงานขายของออนไลน์ ซึ่งพอเปิดให้ไป ก็ไม่ได้ติดต่ออะไรกันอีก มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ถูกออกหมายจับแล้ว

นอกจากการเตือนภัยของตำรวจ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ก็ได้ชวนประชาชน นิสิต นักศึกษา ประกวดวิธีการป้องกันภัยออนไลน์ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัล ก็มีทั้งผลงานที่จัดเป็นนิทรรศการให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลโกงทุกรูปแบบ คอนเทนต์หนังสั้นที่ให้ความรู้เรื่อง Digital Footprint และกฎหมายเผยแพร่สื่อลามก บอร์ดเกมสร้างความรู้และวิธีสังเกตความเสี่ยง บางผลงานเป็นนิทรรศการความรู้แบบเคลื่อนไหว ที่จะให้คนเข้าไปทดสอบในห้องต่าง ๆ โดยกำเงินไปจำนวนหนึ่ง แล้วตัดสินใจว่า แล้วตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าที่เห็น จะแจ้งความหรือปล่อยผ่าน ซึ่งก็ช่วยให้คนที่ทดสอบ มีสติมากขึ้น เปลี่ยนทัศนคติกับเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ไปเลยก็มี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark