ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : เปิดรายการโครงการก่อสร้างถนนฯ เทศบาลตำบลดินดำ

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ตามต่อกับข้อสังเกตโครงการซ่อมสร้างถนนซึ่งใช้งบกลางฯ เกือบ 10 ล้าน แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าเงินเกือบครึ่งของโครงการ ถูกใช้ไปกับเสาไฟนวัตกรรม ติดตามกับคุณสุธาทิพย์ ผาสุข

กรณีคอลัมน์หมายเลข 7 เสนอภาพเสาหลักนำทางยางพารามีสภาพพังเสียหาย ทั้งที่ผู้รับจ้างเพิ่งส่งมอบให้เทศบาลตำบลดินดำ และสิ้นสุดสัญญาจ้างไปไม่ถึง 4 เดือน และข้อสังเกตการติดตั้งเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยจำนวนมาก ในพื้นที่ 2 ข้างทางทุ่งนา จนเป็นข้อสังเกตถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่อาจไม่คุ้มค่า ก่อนจะมีคำชี้แจงจากผู้บริหาร ยืนยันว่าการจัดทำโครงการถูกต้อง แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดที่มากกว่านี้ได้ แม้จะมีข้อพิรุธสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำโครงการที่ส่อว่าจะไม่โปร่งใสเพิ่มเติมก็ตาม

คอลัมน์หมายเลข 7 ค้นหาข้อมูลย้อนหลัง พบว่า ทางเทศบาลตำบลดินดำ เผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ วันที่ 21 กันยายน 2565 วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 9,944,000 บาท และประกาศรายละเอียดการประกวดราคา ขึ้นเว็บไซต์ ในอีก 2 วันถัดมา โดยหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ขณะที่การค้นหายังพบรายชื่อของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง 3 ตำแหน่ง คือ ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองช่าง และนายช่างโยธาชำนาญงาน ก่อนถัดมาใน 2 อาทิตย์ คือวันที่ 7 ตุลาคม ในระบบจัดซื้อจัดจ้างจะเผยแพร่ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดร้อยเอ็ดณัฐพงษ์ ในวงเงินที่ตรงกับราคากลาง ซึ่งปกติไม่ค่อยเกิดขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ

เมื่อคลี่ดูในแบบฟอร์มรายงานโครงการซ่อมสร้างถนนแอสฟัสท์ติกคอนกรีต ยังพบว่าโครงการถูกกำหนดแบ่งออกเป็น 6 รายการ แต่ว่าเม็ดเงินเกือบครึ่งหนึ่ง กลับกำหนดให้ถูกใช้ไปกับงานเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งมีราคาสูงถึงต้นละ 67,800 บาท รวมจำนวน 50 ต้น คิดเป็นเงินกว่า 4,528,362 บาท

ส่วนงานเสาหลักนำทางยางพารา ที่ก่อนหน้านี้พบว่ามีสภาพพังเสียหาย ทั้งที่สิ้นสุดสัญญาจ้างไปไม่ถึง 4 เดือน ในรายละเอียดกำหนดว่าจัดซื้อมาจำนวน 98 ต้น ราคาต้นละ 2,312.56 บาท

จากการตรวจสอบโครงการนี้ ยังพบถึงความผิดปกติในส่วนของการปฏิบัติงาน และการตรวจรับงาน ซึ่งปรากฏรายชื่อว่า 1 ในคณะกรรมการ เป็นผู้ที่กำหนดราคากลางด้วย และเป็นเพียงบุคคลเดียวที่เซ็นตรวจรับงาน ในขณะที่คณะกรรมการอีก 2 คน ไม่เซ็นตรวจรับ และอ้างกับคอลัมน์หมายเลข 7 ว่า งานไม่ได้มาตรฐาน

แม้เวลานี้อาจจะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการที่ใช้เงินอุดหนุนงบกลาง ซึ่งสำรองไว้เพื่อช่วยประชาชนในพื้นที่ยามฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่หากพิจารณาจากเนื้องานที่ปรากฏ ทั้งมูลค่าของเสาไฟฟ้าบัญชีนวัตกรรม ที่แพงกว่าเสาไฟแบบปกติไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท หนำซ้ำยังมีปัญหาการก่อสร้างที่ตกมาตรฐาน ก็เป็นคำถามย้อนกลับถึงหน่วยงานที่ดำเนินการว่า คุ้มหรือไม่ กับผลที่ตรวจสอบพบอยู่ขณะนี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark