ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ปกติไหม? ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้นั่งนายกฯ

เช้านี้ที่หมอชิต - เหตุการณ์ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้นั่งนายกฯ ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นบ่อยจนหลายคนแซว ว่าเป็นปกติของการเมืองไทยไปแล้วหรือเปล่า เรามีโอกาสคุยเรื่องนี้กับ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

อาจารย์ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ามองย้อนกลับไปจะเห็นว่า ประเทศไทยมี 2 ระบอบ อย่างชัดเจน ระบอบหนึ่ง คือ ระบอบที่พยายามสร้างความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองที่ได้อันดับหนึ่ง ได้นายกรัฐมนตรี แต่อีกระบอบที่อยู่กับเรามานานที่สุด คือ ระบอบรัฐประหาร เป็นระบอบที่จะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้เลย เพราะเขาออกแบบรัฐธรรมนูญ กลไกการเลือกตั้ง และ กลไกรัฐสภาให้มี สว. เพื่อพวกเขาเท่านั้น

ตัวอย่างเป็นแบบไหน อาจารย์ธำรงศักดิ์ ไล่เรียงตั้งแต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้มี พ.ร.บ.พรรคการเมือง ชนะการเลือกตั้งในปี 2500 แต่มีรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ แล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้งปลายปี 2500 พรรคสหภูมิที่ชนะ คือ พรรคที่จอมพล สฤษดิ์ สร้างขึ้นเพื่อให้มีพรรคการเมืองสนับสนุนตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคสหภูมิชนะไม่มาก จอมพล สฤษดิ์ จึงล้มพรรคสหภูมิและตั้งพรรคใหม่ ชื่อ พรรคชาติสังคม รวมเสียงดูดเสียงจนกลายเป็นพรรคใหญ่ เตรียมขึ้นเป็นนายกฯ แต่บังเอิญล้มป่วยเสียก่อนเลยต้องให้ จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จะเห็นว่านี่คือกรอบเริ่มต้นของระบอบที่เอื้อต่อการที่หัวหน้าคณะรัฐประหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี
 
อีกด้านหนึ่ง เมื่อการเมืองขยับไปทางระบอบประชาธิปไตย เช่น หลัง 14 ตุลา 2516 มีรัฐธรรมนูญ 2517 จะระบุไว้เลยว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. หมายความว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง อย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ก็จะมีเนื้อหาตรงนี้เช่นเดียวกัน แต่ถ้ามาจากคณะรัฐประหารจะเอาตรงนี้ออก เพื่อที่จะบอกว่าเป็นใครมาจากไหนก็ได้

ถ้าดูตามกราฟิกจะเห็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้เชิญคนนอกมาได้ นายกฯ ได้แก่ จอมพล ถนอม กิตติขจร, หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์, พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รวมถึง ป๋าเปรม พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น

อาจารย์ธำรงศักดิ์ เล่าบรรยากาศในช่วง พลเอก เปรม ว่าเป็นยุคที่รัฐธรรมนูญเขียนลักษณะพิเศษเอาไว้ คือ ให้ สว. ร่วมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ทำให้ยุคนั้นไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้เลย ป๋าเปรม วางมือในปี 2534 เป็นช่วงเดียวกับที่ สว. หมดวาระ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงเวลาที่มีนายกฯ จากการเลือกตั้ง ได้แก่ พลเอก ชาติชาย ชุณหวัณ กระทั่งเกิดการรัฐประหารโดย รสช. ก็กลับไปมีนายกฯ คนนอกใหม่ จนหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จึงกลับเข้าช่วงยาวของระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

อาจารย์ธำรงค์ศักดิ์ ชี้เพิ่มเติมว่า พอถึงตรงนี้คณะรัฐประหารใส่ทุกอย่างให้ สว. เลย ให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่งจากปี 2557 มาจนถึงวันนี้ หากล้มการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคุณพิธาได้ ก็จะเป็นไปตามกลไกที่วางไว้ และเหมือนย้อนสถานการณ์กลับไปในรอบ 60-70 ปี

เราได้ถามเพิ่มเติมว่า ถ้าวงล้อประวัติศาสตร์เป็นแบบนี้ ฉากทัศน์ต่อไปเอาแค่ผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หรือจะซ้ำรอยไปถึงตัดสิทธิและยุบพรรคก้าวไกลเหมือนที่เคยเป็นมา

อีกท่านหนึ่งที่เราได้พูดคุยในเรื่องนี้ คือ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กรณีชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้นั่งนายกฯ เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญและพัฒนาการทางการเมือง ในช่วงเริ่มต้นอาจใช้วิธีเชิญคนนอกมานั่งนายกรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดตรงนี้ไว้ แต่เมื่อสั่งสมพัฒนาการไปเรื่อย ๆ จึงกำหนดในรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจาก สส. ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ รัฐประหาร 2557 นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ สว. เลือกนายกรัฐมนตรีได้ มีอายุ 5 ปี เจตนารมณ์ คือ ประคับประคองช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ปัญหาอยู่ที่มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาสืบทอดอำนาจ จึงทำให้เกิดความไม่ปกติขึ้น

ข้ามมาถึงการเลือกตั้ง 2566 อาจารย์บอกว่า มีเหตุซับซ้อนขึ้นอีก จากกรณีที่สภามีมติให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ สถานการณ์นี้กำลังจะนำไปสู่ความวุ่นวายขนานใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark