ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

มุนินทร์ แนะ ประธานสภาฯ ยังมีอำนาจวินิจฉัยกรณีโหวตเลือกนายกฯ ใหม่ได้

เช้านี้ที่หมอชิต - เปิดทัศนะ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ใน 115 คณาจารย์นิติศาสตร์ ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ "ไม่เห็นด้วย" สภายกข้อบังคับประชุม ใหญ่กว่า "รัฐธรรมนูญ" และข้อเสนอแนะต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อไม่นำไปสู่การใช้อำนาจตุลาการแทรกแซงรัฐสภาในอนาคต จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในกรณีดังกล่าว พร้อมสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนระอุในขณะนี้

อาจารย์มุนินทร์ กล่าวว่า เหตุผลที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 115 คน ร่วมกันลงชื่อก็เพื่อยืนยันในหลักการพื้นฐานว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดจะมาขัดหรือแย้งไม่ได้ การที่สมาชิกรัฐสภามีมติให้การเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีทำได้เพียงครั้งเดียว โดยตีความว่า เป็นญัตติห้ามเสนอซ้ำตามข้อบังคับของรัฐสภามาตราที่ 41 ตรงนี้เองที่ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะตามหลักการจะต้องมีการโหวตโดยสมาชิกรัฐสภา ถ้าโชคดีก็รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง แต่หลายครั้งต้องอาศัยการรวมเสียงจากหลายพรรค จึงอาจต้องใช้ความพยายามหลายครั้งในการโหวต ซึ่งถ้าเสนอซ้ำไม่ได้ก็จะทำให้การจับกลุ่มจับขั้วมีความผิดเพี้ยนดังที่เห็นในตอนนี้

ล่าสุด ยังมีกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารับคำร้องให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติดังกล่าวว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่อาจทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้อีก อย่างไรก็ตาม อาจารย์มุนินทร์ บอกว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่วิธีการเดียวในการล้างคำวินิจฉัยเดิมของสภาที่มีปัญหา โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถดำเนินการเองได้

อาจารย์มุนินทร์ มองว่า กรณีที่มีการยื่นเรื่องให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินก็ยังมีข้อถกเถียงจากนักกฎหมายมหาชนหลายท่านเช่นกันว่า ใครควรเป็นผู้เสียหาย หรือใครเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งในกรณีนี้ควรเป็น คุณพิธา เพียงคนเดียวที่สามารถยื่นได้ เพราะเป็นผู้ถูกตัดสิทธิให้เหลือการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพียงครั้งเดียว ทั้งที่ควรเสนอกี่ครั้งก็ได้ ต้องตีความอย่างแคบ เพราะหากตีความอย่างกว้าง ในอนาคต การยื่นเรื่องให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะกลายเป็นการเปิดช่องให้สมาชิกสภาที่ไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไหร่สามารถยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญผ่านทางองค์กรต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎหมายได้ง่าย จะเป็นการเปิดทางให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซงอธิปไตยทางนิติบัญญัติได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย ดังนั้น กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะตีตกคำร้องทันที หรือรับไว้แล้วมีการกำหนดวิธีการชั่วคราวออกมาก็ได้

อาจารย์มุนินทร์ ยังมองด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการเมืองขณะนี้มาจากความต้องการทางการเมืองของผู้ที่มีสิทธิตั้งรัฐบาลค่อนข้างที่จะรีบกันมาก ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญไม่มีกรอบเวลาใดบังคับให้ต้องเร็วที่สุด ดังนั้นท้ายที่สุดแล้ว ต่อให้เสนอชื่อซ้ำไม่ได้ในสมัยประชุมนี้ 8 พรรคจะรออีก 3-4 เดือน แล้วเสนอชื่อ คุณพิธา เข้าไปใหม่ในสมัยประชุมหน้าก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ

อาจารย์มุนินทร์ ทิ้งท้ายว่า มันขึ้นอยู่กับว่า 8 พรรคในขณะนี้ ให้น้ำหนักความสำคัญของสถานการณ์กับอะไร ถ้ามองว่าต้องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพราะปัจจุบันมีวิกฤตเรื่องระบบกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็สามารถรอได้ รออีก 10 เดือน จนวุฒิสมาชิกชุดปัจจุบันหมดวาระก็ได้ แต่ถ้ามองว่าเรื่องปากท้องสำคัญที่สุดต้องมีรัฐบาลตัวจริงโดยเร็วที่สุด ไม่สามารถให้รัฐบาลรักษาอยู่ต่อได้ ก็จะเกิดเหตุว่าทำยังไงจึงจะรวบรวมเสียงให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้เร็วที่สุด ซึ่งฉากทัศน์ตอนนี้เป็นแบบที่สอง คือ ต้องการมีรัฐบาลให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ยืนยันว่าต้องรีบ จะใช้เวลา 10 เดือน หรือ 1 ปี ก็ทำได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark