ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ภาวะโลกเดือด ร้อนแล้ง ฝนทิ้งช่วง

เจาะประเด็นข่าว 7HD - สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จากภาวะโลกร้อน ไปสู่ภาวะโลกเดือด ตามที่เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกมาเตือนดัง ๆ ไปยังทั่วโลก ภาวะโลกเดือดมีผลอย่างไร กับเมืองไทย อากาศร้อนขึ้นชัดเจน ความแห้งแล้ง และฝนน้อย

24 ชั่วโมงที่ผ่านมา นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ UN แถลงประโยคที่น่าตกใจ สิ้นสุด ภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming แล้ว เข้าสู่ภาวะโลกเดือด หรือ Global Boiling

สำหรับโลก นี่คือภัยพิบัติ เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว ยุคของโลกเดือด จะส่งผลที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พูดถึงภาวะโลกเดือดกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงในบ้านเรา ตอนนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม ในตอนกลางวัน วันที่ฝนไม่ตก อากาศร้อนขึ้นกว่าเดือนกรกฎาคมของทุกปี อากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 38-39 องศาเซลเซียส และรู้สึกได้ว่าร้อนขึ้น ร้อนในฤดูฝน ถึงแม้จะไม่ได้ร้อนผ่าวถึง 40 องศาเซลเซียส อย่างในช่วงฤดูร้อนก็ตาม เกิดจากสภาวะฝนทิ้งช่วง ฝนน้อย

ส่วนสภาพอากาศ 7 วันจากนี้ วันนี้ไปถึงวันที่ 4 สิงหาคม จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออก จะมีฝนฟ้าคะนอง 60-80 % ของพื้นที่

ขณะที่ภาคอีสาน ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะมีฝนมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ช่วง 7 วันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนนักท่องเที่ยว ชาวเรือชาวประมง ระวังคลื่นลมแรงในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน

ทะเลภาคตะวันออก มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เรือเล็กงดออกจากฝั่ง

ขณะที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 7 วันนี้ จะมีฝน 40-60% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีคลื่นสูง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

นอกจากนี้ ฝั่งอันดามันจะมีฝนฟ้าคะนอง 60-80 % ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมาก ทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดพังงา ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ต้องระวังคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark