ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ตรวจสอบ จนท.ที่ดิน ออกเอกสารสิทธิ ทับเขตวนอุทยานปราณบุรี

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินงอกชายทะเลของเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกให้กับนายทุน ซึ่งไปทับซ้อนกับพื้นที่ของวนอุทยานปราณบุรี ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ติดตามเรื่องนี้กับคุณอนันตชัย วัชรเสถียร

นี่เป็นภาพถ่ายทางอากาศของที่ดินที่งอกเพิ่มเติมออกมาบริเวณชายทะเลปากน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี 2497 ไล่เรียงมาจนถึงปี 2557 ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ซึ่งเดิมทีเป็นหาดทรายสีขาว ค่อย ๆ งอกขึ้น จนกลายเป็นที่ดินแปลงงามอยู่ติดชายทะเล โดยมีสาเหตุมาจากการที่กรมเจ้าท่า ได้ขุดลอกและดูดทรายจากแม่น้ำปราณบุรี เพื่อให้เรือประมงสามารถล่องเข้าแม่น้ำได้

แน่นอนว่าเมื่อมีที่ดินงอกเพิ่มเติมออกมา ก็ต้องมีเจ้าของที่มีอำนาจครอบครองดูแล ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 บัญญัติไว้ และในอดีตพื้นที่นี้ก็เป็นของเขตป่าไม้ ป่าคลองเก่า - ป่าคลองคอย ซึ่งต่อมาปี 2525 กรมป่าไม้ ได้มีการจัดตั้งเป็นเขตวนอุทยานปราณบุรี โดยมีเนื้อที่ 1,984 ไร่

แต่ปัญหาก็มาเกิดขึ้นเมื่อปรากฏข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดออกหนังสือ น.ส.3 ให้กับนายทุนถือกรรมสิทธิ์ จำนวน 11 แปลง และต่อมาได้ออกโฉนดที่ดินเพิ่มอีก 3 แปลง จนกลายเป็นข้อพิพาทและทำให้มีข้อโต้เแย้งถึงการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ภาค 7 พบว่าการออกหนังสือ น.ส.3 นั้น ได้มีการแปรสภาพมาจากใบเหยียบย่ำที่ออกมาตั้งแต่ปี 2496 ทั้ง ๆ ที่มีสภาพชำรุด และไม่สามารถตรวจสอบ หรือพิสูจน์ตำแหน่งเดิมของที่ดินได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินดังกล่าว ก็ถูกคัดค้านจากหลายหน่วยงานมาตลอด

กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 ศาลปกครองเพชรบุรี ได้มีคำสั่งให้ เจ้าพนักงานที่ดิน มีหน้าที่ต้องนำเรื่องไปโต้แย้งสิทธิ์ที่ดินเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่สำนักงานที่ดิน กลับพิจารณาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากมองว่า ผู้ขอมีความพยายามเข้าทำประโยชน์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานขัดขวาง ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ได้ลงนามเห็นชอบให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินเมื่อเดือนกันยายน ปี 2564

เวลานี้ที่ดินซึ่งเป็นปัญหาได้ถูกออกโฉนดไปแล้ว 3 แปลง ถือกรรมสิทธิ์โดยนายทุน ส่วนอีก 11 แปลง อยู่ระหว่างดำเนินการ และมี 2 แปลง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินสาธารณะเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ควรต้องเร่งแก้ ก่อนที่ทรัพย์สมบัติของชาติที่ทุกคนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ร่วมกันจะถูกใครหยิบยกเอาไปใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยเห็นได้จากเรื่องร้องเรียนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกส่งมาที่ ป.ป.ช. ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 300 เรื่อง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark