ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

รัฐบาลปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เช้านี้ที่หมอชิต - การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ของรัฐบาลในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหาคม ต้องมาพิสูจน์ความจน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าผู้สูงอายุจำนวนมากจะได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับสวัสดิการที่ควรได้

รัฐบาลปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ถือเป็นเรื่องที่ช็อกกันพอสมควร เมื่อรัฐบาลรักษาการ ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ใหม่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566

หากเปรียบเทียบหลักเกณฑ์เดิมกับหลักเกณฑ์ใหม่ เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้าแบบขั้นบันได ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาทต่อเดือน คือ อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน 80-89 ได้ 800 บาทต่อเดือน 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000 บาทต่อเดือน

หลักเกณฑ์ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ข้อที่ 6 (4) ระบุ ผู้ได้รับเงินคือ ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพเท่านั้น โดยมีบทเฉพาะกาล ข้อที่ 17 ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่สิ่งที่สร้างความกังวลคือ ผู้ที่อายุกำลังจะครบ 60 ปี หลังวันที่ 12 สิงหาคม 2566 จะได้รับเงินหรือไม่ หรือต้องพิสูจน์ความจนให้ผ่านตามเกณฑ์ใหม่ข้อ 6(4) เสียก่อน

ฝั่งรัฐบาล พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของการออกระเบียบให้สอดคล้องกัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ที่ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้กำหนด ส่วนกรณีโซเชียลมีดรามาถึงการพิสูจน์ความจนนั้น พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่า มีวิธีคิดได้หลายแบบ จากนั้นจึงย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า ถ้าคนอย่างตน บำนาญ 60,000 บาทได้ด้วย คิดว่ายุติธรรมหรือไม่ ควรได้หรือไม่

ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามในประเด็นลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูง หรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือ ไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้งคือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น

แต่คนพรรคเดียวกัน ดูเหมือนจะไม่มองแบบนั้น นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาสวนว่า กระทรวงมหาดไทย ต้องทบทวนระเบียบดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อประชาชน เพราะต่อจากนี้จะต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอหรือไม่ ประชาชนจะไม่ได้รับสวัสดิการนี้ถ้วนหน้าเช่นเดิม สังคมกำลังรอคำอธิบายจากกระทรวงมหาดไทย

จากนั้นยังกล่าวด้วยว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ริเริ่มในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ต่อมาสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแบบเบี้ยยังชีพถ้วนหน้า ยกเว้นผู้ที่ได้รับบำเหน็จบำนาญ จึงเป็นนโยบายที่พรรคให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเป็นนโยบายที่พี่น้องประชาชนที่ได้เสียภาษีให้รัฐมาตลอดชีวิตได้ประโยชน์ อย่างน้อยมีเงินจากรัฐที่ได้จัดสรรให้มาใช้จ่ายในวิถีชีวิตบางส่วน สำหรับเรื่องนี้พรรคจะได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

อนุสรณ์ โวย บิ๊กตู่ วางยาแก้เกณฑ์
ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถึงกับบอกว่ารัฐบาลรักษาการทำแบบนี้เหมือนวางยาทิ้งทวน ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกปฏิบัติ เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักสากล ถือเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิของพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง พลเอกประยุทธ์ ปากประกาศวางมือ แต่ใจเหมือนคิดวางยาหรือไม่ อย่าผูกขาดทวงบุญคุณกับประชาชนว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เท่านั้น ที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ นี่คือหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนว่า ทำไม 10 เดือนถึงไม่รอ เพราะหากเวลาที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาช้าไปเท่าไร ก็เท่ากับเป็นการเติมโพรโมชันพิเศษให้รัฐบาลรักษาการอยู่นานขึ้นไปเรื่อย ๆ

วิโรจน์ ซัด ไม่ตัดอาวุธแต่ตัดอาหาร ผู้สูงอายุ 6 ล้านคน เสี่ยงถูกรัฐลอยแพ
อีกหนึ่งคนที่นำประเด็นนี้มาขยายความคนแรก ๆ ก็คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นการลักไก่ที่ผลของมันอาจส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุมากกว่า 6 ล้านคน

เรามีโอกาสคุยกับ คุณวิโรจน์ เพิ่มเติมในเรื่องนี้ คุณวิโรจน์ ระบุว่า รัฐบาลประยุทธ์เคยมีความพยายามทำเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2564 คือ การฟ้องร้องเรียกคืนเงินจากประชาชน หากจำได้คือกรณีของ ยายบวน ที่มีการเรียกคืนเงินผู้สูงอายุ 84,000 บาท หรือกรณีของยายทวดแสง แต่ไม่ใช่แค่นี้ ยังมีกรณีคล้ายกันมากกว่า 28,345 กรณี คิดเป็นวงเงิน 245 ล้านบาท หากมองตามข้อกฎหมาย เรื่องนี้ไม่สามารถเรียกคืนได้ จึงมีการทักท้วงกันอย่างกว้างขวาง จนท้ายที่สุด ครม.จึงถอยเรื่องนี้

ซึ่งคุณวิโรจน์ มองว่า เหตุผลในการทำเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีเงิน แต่เป็นเรื่องของวิธีคิด คนกลุ่มนี้ไม่ชอบกับสิ่งที่เรียกว่าสวัสดิการ แต่จะดึงเข้าหาระบบสงเคราะห์ที่ต้องพิสูจน์ความจน

คุณวิโรจน์ ย้ำทิ้งท้ายว่า คนพวกนี้ไม่ใช่คนที่คิดอยากจะประหยัดอะไร แค่เป็นคนไม่เห็นหัวประชาชนเท่านั้น เพราะถ้าต้องการประหยัด ก็ต้องตัดทุกหมวด แต่จะเห็นว่าเรื่องใดที่มีผลประโยชน์ มีเงินทอนซื้อกันแหลกเลย อย่างอาวุธปีนี้ซื้อไม่ได้ ต่อให้ถูกด่าก็หน้าด้านสอดไส้เสนอ ของบเข้ามาเหมือนเดิม อาวุธไม่เคยคิดจะตัด ตัดแต่อาหารประชาชน ผลกระทบเรื่องนี้มีทั้งกรณีผู้สูงอายุที่อายุกำลังจะถึงเกณฑ์ 60 ปี ไม่ได้สวัสดิการถ้วนหน้า ส่วนผู้ที่กำลังจะขยับได้เงินแบบขั้นบันได เช่น 69 ปีจะถึง 70 ปี ต้องได้เพิ่มอีก 100 บาทต่อเดือน ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ปรับขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้แว่วมาว่าเกณฑ์พิจารณาจะใช้เกณฑ์แบบบัตรคนจน ซึ่งมันเป็นอะไรที่แย่ที่สุด

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark