ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

วิกฤตเงินออมผู้สูงอายุไทย เงินออมต่ำ

เจาะประเด็นข่าว 7HD - หลายคนในสื่อสังคมออนไลน์ สงสัยว่า ทำไมผู้สูงอายุ ต้องออกมาคัดค้านการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสวัสดิการ คิดไปว่า ผู้สูงอายุไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไร เราไปหาคำตอบมาให้ สรุปว่า ผู้สูงอายุ แม้จะอยู่บ้าน แต่มีภาระต้องรับผิดชอบหลานๆ และหลายคนยังมีหนี้สิน ที่สำคัญเงินออมน้อย

รายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าปัญหาความยากจนของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าคนไทยที่เป็นคนจนหลายมิติ ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีรายงาน การสำรวจประชากรสูงอายุของไทยระบุสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยมีกว่า 12 ล้านคน ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย เป็น ผู้มีรายได้น้อย หรือเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า เส้นความยากจน มากกว่า 40 % ของผู้สูงอายุไทย มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท โดยแหล่งรายได้หลักส่วนใหญ่ มาจากลูกหลานหรือญาติ รองลงมาเป็นรายได้จากการทำงาน ขณะที่ผลการวิจัยของภาควิชาธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุระหว่าง 55 - 59 ปีที่อยู่คนเดียว หรือ สูงวัยไร้ญาติ มีใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 5,679 บาท (ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล)

ขณะที่กลุ่มสูงวัยเต็มตัว หรืออายุ 60-64 ปี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 4,374 บาท ขณะที่งานวิจัยเรื่อง การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 51% มีรายจ่ายเพื่อดูแลบุตรหลานหรือญาติ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุกว่า 52 % ยังมีภาระหนี้สิน ทั้งหมดเป็นเหตุผลทำให้เมื่อมีการปรับเงื่อนไข สวัสดิการของกลุ่มผู้สูงอายุ จึงทำให้เกิดการออกมาคัดค้าน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark