ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เพื่อไทย แถลงตั้งรัฐบาล สะพัดโผ 'ชลน่าน' นั่ง รมว.สธ. 'อนุทิน' ควบ มท.1

เช้านี้ที่หมอชิต - พรรคเพื่อไทย จับมือ 11 พรรคการเมือง รวมถึงพรรค 2 ลุง จัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง อ้างเป็นวาระประเทศ โดย "หมอชลน่าน" ประกาศยอมรับผิดชอบคำพูด ลาออกจากหัวหน้าพรรคทันที หลังเสนอชื่อรัฐมนตรีในส่วนเพื่อไทยเสร็จ

วานนี้ พรรคเพื่อไทย นำโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำพรรคการเมือง 11 พรรค 314 เสียง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 141 เสียง, พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, พรรคประชาชาติ 9 เสียง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง, พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง, พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 เสียง รวมเป็น 314 เสียง ได้แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล ที่รัฐสภา

โดย นายแพทย์ชลน่าน อ่านแถลงการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค 314 เสียง ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล โดยมีมติร่วมกันเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี 

โดยเชิญหัวหน้าพรรคมาตกลงร่วมมือแบ่งงานกันทำ โดยพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง, พรรคภูมิใจไทย ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง, พรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง, พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง, พรรคประชาชาติ ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง ส่วนพรรคอื่น ๆ อีก 5 พรรคที่เหลือไม่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี

โดยทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต, ที่ดินทำกิน, ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท, เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ, แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่ต้องเร่งแก้ไข การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อยู่บนฐานความรับผิดชอบต่อประชาชน เป้าหมายหลักในวาระนี้คือการเข้ามาร่วมรับผิดชอบในวาระประเทศและวาระของประชาชน

ซึ่งระหว่างที่พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวและระหว่างที่ นายแพทย์ชลน่าน จะเดินขึ้นลิฟต์ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ อดีตประธานสหภาพนิสิต นักเรียน นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) โดยตอนนี้เป็นผู้ช่วย สส.พรรคก้าวไกล ได้ตะโกนถามว่า "หมอชลน่านลาออกกี่โมง"

ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงข่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องนําพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ร่วมรัฐบาล เพราะหากไม่ดึงทั้งสองพรรคมาร่วมก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งหากเราจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอะไรขึ้น ส่วนเรื่องที่ตนจะลาออกจากพรรคเพื่อไทยนั้น ตั้งใจจะประกาศความรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว ยินดีจะลาออกแน่นอน เมื่อเสนอชื่อคณะรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเสร็จสิ้น จะประกาศเป็นทางการทันที

ส่วนท่าทีของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้พูดกับ สส. ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยว่า วันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลืมวาทกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 2 ลุง หรือ มีลุงไม่มีเรา เรื่องการใช้วาทกรรมสังคมโซเชียลมีเดียด้อยค่าพรรคเพื่อไทย ตนก็รู้สึกเจ็บพอกับทุกคน แต่เราต้องอยู่ในสังคมของความเป็นจริง เพราะยังมีเกษตรกรอีกนับ 10 ล้านคน ที่ยังรอการจัดตั้งรัฐบาล คอยนโยบายดี ๆ ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย

ส่วนการแบ่งโควตา ครม. เบื้องต้นมีกระแสข่าวคาดว่า นายเศรษฐา จะเป็นนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะได้นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค คาดว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ จะได้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังต่อรองต้องการให้ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายพลเอกประวิตร มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ จะได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่วนพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ส่วนพรรคประชาชาติ คาดว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ส่วนท่าทีของก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงผลการประชุม สส.พรรคว่า ที่ประชุม สส.มีมติจะออกเสียง "ไม่เห็นชอบ" ต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลผสมข้ามขั้ว เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งเป็นการตัดสินใจบนจุดยืนทางการเมืองและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนคือ "มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา" ซึ่งก้าวไกล ไม่สามารถตระบัดสัตย์ต่อประชาชนได้

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ นางสาวสุณัฐชา โล่หถาพรพิพิธ รองประธาน สส. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม สส.ว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ ตกลงร่วมกันเป็นมติพรรคว่าจะงดออกเสียง เพราะพรรคไม่ได้รับการเชิญร่วมรัฐบาล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปโหวตเห็นชอบนายเศรษฐา แต่อาจจะมีบางคนที่มีเหตุผลส่วนตัวก็ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สส.ประชาธิปัตย์ ที่จะลงมติสวนมติพรรค โดยขอลงมติไม่เห็นชอบ คือ 1.นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ ที่ให้เหตุผลว่า พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยเรื่องทุจริตมาโดยตลอด 2.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ เพราะมองว่า นายเศรษฐาถูกสังคมเคลือบแคลงจากข้อกล่าวหา นอกจากนี้ ยังมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคฯ และนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ที่ลงมติไม่เห็นชอบนายเศรษฐาด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark