ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

ตอบชัดทุกข้อสงสัย เงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำไมต้องกำหนดให้ใช้ได้แค่ในรัศมี 4 กม.


นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์เจาะลึก ข้อสงสัยระบบเงินดิจิทัล 10,000 บาท ชี้ขั้นตอนมีการแบ่งเป็น 4 ระยะ โดยในระยะแรกคือขั้นตอนการหยุดเลือดคือจะมีการพักชำระหนี้ ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน เมื่อดำเนินการในระยะแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะดำเนินการตามแผนในขั้นที่สองนั่นก็คือการแจกเงินดิจิตอล 10000 บาท ซึ่งตามกรอบเวลาที่วางเอาไว้คือจะได้ใช้เงินดิจิตอลในช่วงประมาณไตรมาสแรกของปี2567(ม.ค.-เม.ย.) ข้อความทั้งหมดระบุว่า

คำถาม : พรรคเพื่อไทยจะทำ digital wallet 10000 บาท จริงหรือไม่
คำตอบ : ทางพรรคเพื่อไทยได้ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน และได้วางแผนกอบกู้เศรษฐกิจไทยไว้เป็น 4 ระยะนั่นก็คือ หยุดเลือด ปั๊มหัวใจ กายภาพบำบัด และก้าวกระโดด โดยนโยบายนี้อยู่ในระยะปั๊มหัวใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ และทางพรรคเพื่อไทยได้คำนวณมาอย่างแม่นยำตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วว่าตัวเลข 10,000 เป็นจำนวนที่มากพอที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างแท้จริงและมั่นคง(productivity เพิ่มขึ้นจริง)ไม่ใช่แค่เพียงdemandเทียมชั่วคราว ดังนั้นประชาชนทุกคนมั่นใจได้เลยว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน

คำถาม : จะได้ใช้เงินดิจิตอลเมื่อไหร่? ยังหาเงินมาแจกไม่ได้ใช่หรือไม่?
คำตอบ : หลังจากที่พี่น้องประชาชนได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่กันแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการแต่งตั้ง ครม. อย่างเป็นทางการ เมื่อแต่งตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วพรรคเพื่อไทยก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในทันที ซึ่งจากที่ได้กล่าวไปในข้อที่แล้วว่ามีการแบ่งการแก้ไขออกเป็น 4ระยะ โดยในระยะแรกคือขั้นตอนการหยุดเลือดคือจะมีการพักชำระหนี้ ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน เมื่อดำเนินการในระยะแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะดำเนินการตามแผนในขั้นที่สองนั่นก็คือการแจกเงินดิจิตอล 10000 บาท ซึ่งตามกรอบเวลาที่วางเอาไว้คือจะได้ใช้เงินดิจิตอลในช่วงประมาณไตรมาสแรกของปี2567 (ม.ค.-เม.ย.)

คำถาม : ทำไมต้องกำหนดให้ใช้ได้แค่ในรัศมี 4กม.
คำตอบ : การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้เราต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักอย่างทั่วถึงทุกจังหวัด ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน หากไม่กำหนดกรอบรัศมีการใช้งาน เศรษฐกิจก็จะคึกคักแค่ตามหัวเมืองใหญ่ๆหรือเมืองท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราก็จะมีการปรับรัศมีการใช้งานให้เหมาะสมตามลักษณะภูมิประเทศ ในพื้นที่ที่มีบ้านเรือนร้านค้ากระจายตัวอยู่ห่างกันมากๆก็จะมีการปรับรัศมีการใช้งานให้กว้างขึ้น

คำถาม : ทำไมไม่แจกในเป๋าตัง
คำตอบ : แท้จริงแล้วเป๋าตังเป็นระบบของทางธนาคารกรุงไทย แต่เราจะทำเป็นระบบของทางรัฐบาลเองโดยตรงเพื่อให้การดำเนินนโยบายทางการคลังของรัฐบาลเป็นไปอย่างคล่องตัว และถึงแม้ว่าทั้งสองระบบจะเป็น programmable money เหมือนกันแต่ก็มีความแตกต่างกันนั่นก็คือ เป๋าตังเป็นเงินดิจิตอลที่ผู้ใช้สามารถใช่จ่ายเงินให้ร้านค้าได้อย่างเดียว ในฝั่งร้านค้าก็ต้องใช้แอพถุงเงินมารับและเงินดิจิตอลที่อยู่ในแอพเป๋าตุงนั้นก็ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายต่อได้ ต้องนำไปแลกเป็นเงินสดกับรัฐบาลเท่านั้น ถือเป็นระบบที่ยังไม่ค่อยหมุนเวียนเท่าไหร่ แต่กระเป๋าเงินดิจิตอลของเพื่อไทยนี้สามารถรับเข้าและโอนออกได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติเราไปนำซื้อข้าวแกง แม้ค้าข้าวแกงก็สามารถนำเงินดิจิตอลนี้ไปซื้อ ไก่หมูพริกกระเทียมในตลาด ร้านไก่หมูพริกกระเทียมในตลาดก็สามารถนำไปซื้อของมาขายได้อีกทีหนึ่ง ถือว่าเป็นระบบที่มีการหมุนเวียนเกือบสมบูรณ์ สรุปสั้นๆคือเป๋าตังเป็นการใช้จ่ายครั้งเดียว แต่ระบบเงินดิจิตอลเพื่อไทยสามารถหมุนเวียนได้

คำถาม : ทำเป็น blockchain ไปเพื่ออะไรในเมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความเป็น decentralized เพราะมองแล้วยังไงระบบนี้ของเพื่อไทยก็เป็น centralized
คำตอบ :
1.ระบบเงิน digital นี้สร้างโดยรัฐบาลเพราะฉะนั้นจะต้องไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการโอน ในเมื่อไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการโอน ตอนเริ่มต้นแบบนี้ก็คงไม่ใครมาเป็น nodes ให้ฟรีๆถูกมั้ยครับ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลสามารถทำในรูปแบบ Proof of Authority โดยกำหนดให้หน่วยงานต่างๆเป็น Validator Node เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันของหลายๆหน่วยงาน ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น,ความปลอดภัยมากขึ้นกว่า data base (เพราะถ้าจะhackก็ต้องhackหลายจุดอยู่ดี),และระบบมีความรวดเร็วกว่าแบบ decentralized 100% เราก็จะได้ทั้งความ practical, security, transparency ไปพร้อมๆกัน (อย่างไรก็มีความโปร่งใสและปลอดภัยกว่าการใช้ data base)
2.ต้องไม่ลืมว่าจุดประสงค์หลักๆก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนออกมาลงทุนและใช้จ่ายกันมากขึ้น ดังนั้นในเบื้องต้นทำให้เกิดความรวดเร็วในการใช้จ่าย หากทำให้เป็น decentralized 100% ก็ต้องรอการ Proof of work ของ node จำนวนมหาศาลจนทำใช้การโอนเหรียญแต่ครั้งใช้เวลานานมากกว่าแบบ Proof of Authority
นอกจากนี้ระบบแบบ Proof of Authority ยังมีข้อดีตรงที่มีการปรับแก้เงื่อนไขต่างๆให้เป็นไปวัตถุประสงค์ทางการคลังตามที่รัฐต้องการได้ง่ายกว่า อีกประการหนึ่งคือมีความจำเป็นในการให้ความเป็นส่วนตัวกับประชาชนผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน การเปิดสาธารณะทุกธุรกรรมแบบ decentralized นั้นยังถือว่าเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวหากรัฐบาลจะกระทำ

คำถาม : ทำไมไม่ใช้ cbdc ไปเลย
คำตอบ : ต้องอธิบายก่อนว่า cbdc คือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ในกรณีของไทย CDBC ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล” ในเมื่อ cbdc ก็คือเงินตราที่ออกโดย ธปท. เพราะฉะนั้นจะต้องเป็นไปตาม พรบ.เงินตรา โดยปกติเงินตราที่ ธปท.ออกมานั้นจะต้องมีค่าตลอดไป ทำให้ขัดกับวัตถุประสงค์ของนโยบายที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน

คำถาม : Over engineering หรือไม่
คำตอบ : โครงการนี้นอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เรายังได้ infrastructures ระบบ blockchain ที่เป็นระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ ที่จะสามารถรองรับเศรษฐกิจดิจิตอลในอนาคตไว้ใช้ ซึ่งประโยชน์ของ blockchain สามารถนำไปใช้ได้อีกหลายด้านเช่น ในด้านสาธารณสุข การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ ระบบราชการ ฯลฯ ให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยากได้มากมาย นอกจากนี้ในอนาคตหากเรามีโครงสร้างอยู่แล้วก็สามารถขยายไปสู่ความเป็น decentralized ได้มากขึ้น เช่นอาจขยาย nodes ไปสู่หน่วยงานย่อยๆอื่นๆเช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงเรียน ทำให้การดำเนินการทุกอย่างของราชการและภาครัฐมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้มากขึ้นไปอีก โครงการนี้จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ได้ใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

เพิ่มเติม : เมื่อเรามีระบบ blockchain นี้แล้ว สวัสดิการต่างๆที่ภาครัฐจะมอบให้กับประชาชนก็จะมีประสิทธิภาพทางการคลัง ตรงเป้าหมายและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐจะให้สวัสดิการในการซื้ออุปกรณ์การศึกษาแก่นักเรียน ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่าเงินดิจิตอลที่ให้มานี้ต้องใช้ซื้ออุปกรณ์การเรียนเท่านั้น ทำให้มั่นใจได้ว่าเงินดิจิตอลนี้ถึงมือนักเรียนและได้ใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์อย่างแน่นอน

BUGABOONEWS
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เพจ Pongkawin Jungrungruangkit - พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ



ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark