ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : เร่งสกัดนายทุนลอบขุดดิน-ดูดทราย หลังพบทำผิดซ้ำ

ข่าวภาคค่ำ - ป.ป.ช.เร่งสกัดปัญหากลโกงนายทุนลอบขุดดิน-ดูดทราย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังยังตรวจพบภาพของการกระทำผิดซ้ำ ๆ คุณอรรถพล ดวงจินดา ติดตามเรื่องนี้ มีรายงาน

ปัญหาการลักลอบขุดดิน ดูดตักทราย โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่กระจายไปทั่วใน 5 อำเภอ ของจังหวัดนราธิวาส ที่เจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดนราธิวาส ตรวจพบถึง 26 จุด กลายเป็นปัญหาที่ทำลายทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนต้องบูรณาการณ์แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีการเข้าตรวจสอบและแจ้งข้อหากับผู้กระทำผิดไปแล้ว และบางจุด มีการแจ้งข้อหาในพื้นที่เดิมซ้ำไปแล้วหลายรอบ

อย่างในจุดพื้นที่บ้านบือราเป๊ะ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง อยู่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ เป็นที่ดินที่มีการจัดสรรและโอนกรรมสิทธ์ให้ชาวบ้านเข้าทำกิน แต่กลับมีการขุดดินเพื่อนำไปขาย ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดิน ตาม พรบ.จัดที่ดินเพี่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่สามารถให้ใช้ประโยชน์อาศัยและใช้ในการเกษตรเท่านั้น จนสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปเป็นเขาหัวโล้น

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจ คือจุดนี้ ทีมคอลัมน์หมายเลข 7 เคยเข้าตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ได้สั่งห้าม ไม่ให้ผู้ประกอบการหรือชาวบ้านเข้าขุดดิน มาตั้งแต่ช่วงต้นปีมาแล้วถึง 2 รอบ แต่กลับพบว่า ยังมีการลักลอบเข้าไปขุดดินในพื้นที่เพิ่มซ้ำในจุดเดิมอีก จนบ่อน้ำที่ขุด มีขนาดกว้างขึ้น และมีน้ำท่วมขังเต็มบ่อ ขณะที่ต้นไม้ที่เคยอยู่เดิม ก็ถูกตัดโค่นล้มไปหลายต้น โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือการแจ้งข้อหาจากเจ้าหน้าที่

ข้อมูลจาก ป.ป.ช.ยังระบุว่า แม้ว่าการลักลอบขุดดิน จะไม่ขยายพื้นที่กว้างมากนัก แต่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และคำสั่งของเจ้าหน้าที่ซ้ำในหลายรอบ ทำให้ปัญหานี้จึงต้องมีการร่วมกันแก้ไขในหลายภาคส่วน ทั้ง ป.ป.ช., อุตสาหกรรมจังหวัด, เจ้าหน้าที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ, ผู้นำส่วนท้องถิ่น, หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันหาทางออก โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งหลายหน่วยงานต่างยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายยังฝ่าฝืน กระทำผิดซ้ำ

แม้จะยังคงมีผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสจากอัตราโทษที่ต่ำ ฝ่าฝืนกระทำผิด ตักทราย ดูดทรายในแม่น้ำ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นทรายคุณภาพ มีอัตราการซื้อขายในพื้นที่ราคาคิวละ 800-1,000 บาท แต่เมื่อหน่วยงานในพื้นที่ยังคงให้ความสำคัญ เคลื่อนไหวตรวจสอบและติดตามปัญหาเป็นระยะ ทำให้ในภาพรวมเวลานี้มีสัญญาณที่ดีขึ้น เห็นได้จากการดำเนินการขออนุญาตตักทราย ดูดทราย ตามขั้นตอนตามกฎหมาย ที่มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตดูดทรายถูกต้องในพื้นที่จำนวน 3 ราย ส่วนการขุดดิน ก็มีแนวโน้ม ขออนุญาตทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอุตสหกรรมจังหวัด ตามขั้นตอนถูกต้องเพิ่มมากขึ้น

เมื่อดินและทรายเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาของประเทศที่มีมูลค่า และยังมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยฉวยโอกาส ใช้ช่องว่างของสภาพพื้นที่และอัตราโทษทางกฎหมายที่ต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ การติดตามควบคุมและดำเนินการนำเข้าระบบให้ถูกต้องตามขั้นตอนของผู้ประกอบการ จึงเป็นอีกหนึ่งในวิธีการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมให้ควบคู่กันไปกันได้ในอนาคต

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark