ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

เจาะคำแถลงนโยบายรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet


ด่วนจี๋ ทำทันที เติมเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล แจกครบ-ทั่วถึง จุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจให้ตื่น ตามมาด้วย 4 นโยบายเร่งด่วน พักหนี้ ลดราคาพลังงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

เจาะคำแถลงนโยบายรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย ด้วย “นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวน ที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง การใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เกิดการจับจ่ายใช้สอย ขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน  และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทน คืนมาในรูปแบบของภาษี

นอกจากจากการเติมเงิน 10,000 บาทแล้ว  รัฐบาลยังมีนโยบายเร่งด่วน ดังนี้
1.การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกร ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงิน สำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ โดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน
2. ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน สนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการ ราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
3. รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจ และความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว
4 แก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ รัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย  ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark