ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ไขปริศนา รหัสทิชชู 810-808 ไม่ควรนำมาใช้จริงหรือไม่ ?


สนั่นโซเชียล หลังผู้บริโภค โพสต์เตือนให้ระวัง การใช้ทิชชู จากต่างประเทศที่มีราคาถูกและขายดี ซึ่งอาจจะเป็นทิชชู รีไซเคิลฟอกขาว ไม่เหมาะนำมาเช็ดปาก เช็ดมือ สัมผัสกับผิว โดยในโซเชียลให้สังเหตุว่า หาก รหัสบนซองลงท้ายด้วย 810 และ 808 ไม่ควรนำมาใช้

เรื่องทิชชู จึงกลายเป็นข้อถกเถียงในโซเชียลจำนวนมาก จนทำให้หลายคนเกิดความกังวล เนื่องจากปัจจุบันตามท้องตลาด โดยเฉพาะออนไลน์ขายกันเกลื่อน และขายในราคาถูกเพียงแค่ 1 บาทก็มี

ทีมข่าว 7HD ตรวจสอบไปยังเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม บอกว่า ปัจจุบัน"กระดาษทิชชู" อยู่ในกลุ่มสินค้าทั่วไป ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม ที่เมื่อนำมาวางจำหน่ายได้ จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

ในส่วนของกระดาษทิชชูนำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะมีมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ กำกับไว้ ดังนั้น ราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ได้ชัดเจนว่า กระดาษทิชชูราคาถูกห้ามใช้ เพราะในไทยก็มีกระดาษทิชชูอยู่ 5 ประเภท ตามที่ผู้บริโภคใช้งาน ได้แก่ กระดาษชำระ เช็ดหน้า เข็ดมือ เข็ดปาก เช็ดอเนกประสงค์

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ให้ความรู้เรื่อง เลขรหัส 808 หรือ 810 บนซองกระดาษทิชชู ว่า ตัวเลขดังกล่าวอยู่ตามหลังตัวอักษร GB/T เป็นมาตรฐานแนะนำ ของประเทศจีน  เป็นรหัสตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ที่เรียกว่า GuoBiao Standards (หรือ GB standards)

หากทิชชูห่อใดเขียนว่า  GB/T 20810 แสดงว่า ผลิตบนมาตรฐานสำหรับ "กระดาษชำระในห้องน้ำ"
ถ้าเขียนว่า ผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20808 แสดงว่า ใช้มาตรฐานสำหรับ "กระดาษทิชชู่ทั่วไป"


มาตรฐานเหล่านี้ จะมีเอกสารระบุอย่างละเอียดถึงข้อกำหนดต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ คุณสมบัติ ไปจนถึงระดับการอนุญาตให้มีสารต่างๆ ปนเปื้อน เมื่อระบุเช่นนี้แล้วการนำไปใช้งานก็จะต่างกันด้วย คือ กระดาษชำระในห้องน้ำ ก็ไม่ได้จะมีคุณสมบัติสูง เท่ากับกระดาษที่ทำมาสำหรับเช็ดมือ เช็ดปาก เช็ดหน้า  โดยเฉพาะในแง่ของมาตรฐานสุขอนามัย (hygiene standards)

โดยตามมาตรฐานของประเทศจีนนั้น กระดาษทิชชูทั่วไป จะผลิตจากเยื่อกระดาษชนิด "เยื่อบริสุทธฺ์ (Virgin Pulp)" เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้เยื่อกระดาษชนิด "เยื่อเวียนใหม่ (Recycled Pulp)"  ในขณะที่ กระดาษชำระในห้องน้ำ สามารถใช้เยื่อเวียนใหม่ เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ เยื่อกระดาษที่เป็น “เยื่อบริสุทธิ์” จะเป็นเยื่อใหม่ 100 % ทำให้เนื้อกระดาษมีสัมผัสนุ่มละมุน มักนำไปทำกระดาษเช็ดหน้า และไม่มีสารเรืองแสงตกค้าง

นอกจากนี้ ยังมีเยื่อกระดาษชนิด "เยื่อผสม” ที่เอาทั้งเยื่อบริสุทธิ์และเยื่อรีไซเคิลมาผสมกัน ก่อนนำไปผลิตเป็นกระดาษทิชชู ทำให้มีคุณภาพดีกว่ากระดาษทิชชูที่ทำจากเยื่อรีไซเคิล 100 % แต่ส่วนใหญ่จะมีสารเรืองแสงตกค้าง เพราะมีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิล

กระดาษทิชชู่ยังถูกควบคุมเรื่องสุขอนามัยอีกด้วย ซึ่งมีการกำหนดเอาไว้อย่างเข้มงวดถึงประมาณจำนวนโคโลนีทั่วหมดของเชื้อแบคทีเรียบนกระดาษ ซึ่งถ้าซื้อกระดาษจากประเทศจีน จะเห็นเลขรหัส GB15979-2002 อีกตัวด้วย (เพิ่มจาก GB/T 20808) ซึ่งก็คือ มาตรฐานสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อนามัยที่ใช้แล้วทิ้ง " Hygiene Standards for Disposable Hygiene Products" ซึ่งกำหนดให้มีเชื้อจุลินทรีย์ได้ไม่เกิน 200 cfu/กรัม ขณะที่กระดาษชำระในห้องน้ำ จะมีได้ไม่เกิน 600 cfu/กรัม

สรุป เรื่องเลข 810/808 บนกระดาษทิชชูนั้น เป็นแค่รหัสมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ใช้พิจารณากับกระดาษทิชชูจากจีนเท่านั้น โดยถ้ามีเลข 808 จะหมายถึงกระดาษทิชชูทั่วไป ขณะที่ 810 จะหมายถึงกระดาษชำระในห้องน้ำ ซึ่งคุณภาพและความสะอาดจะต่ำกว่า มีสารเจือปนได้มากกว่า

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการเลือกใช้กระดาษทิชชู ประชาชนยึดหลักง่าย ๆ คือ ซื้อกระดาษทิชชูให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้ เพราะก็มีแบ่งประเภทไว้แล้ว ทั้งเช็ดหน้า เช็ดมือ เช็ดปาก ใช้ในห้องน้ำ หรือ ใช้อเนกประสงค์ซึ่งส่วนใหญ่ไว้เช็ดทำความสะอาดทั่วไป ให้อ่านฉลากดูวัตถุดิบและวิธีผลิต ถ้าเป็นทิชชูใช้กับใบหน้า ปาก จะดูดซึมน้ำดี นุ่มไม่เป็นขุยผง ไม่มีกลิ่นของสารเคมีปนเปื้อน เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark