ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

แบ่งประธาน กมธ.ลงตัว ไม่ต้องจับไข่ พิเชษฐ์

เช้านี้ที่หมอชิต - อดจับไข่ท่านพิเชษฐ์ ไปตาม ๆ กัน เพราะในที่สุด บรรดาพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรก็ตกลงโควตาเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการ จำนวน 35 คณะ ได้สำเร็จ ก่อนหน้านี้ ถกกันทีไร เดือดทุกรอบ ทำให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุมจัดสรรโควตาขู่ว่า สัปดาห์นี้ถ้าคุยไม่จบจะให้จับไข่วัดดวงกันไปเลย

ซึ่งท่านพิเชษฐ์ก็ได้เตรียมไข่มาจริง ๆ วางไว้ข้างตัวอย่างที่เห็น เป็นกล่องสี่เหลี่ยมใสจำนวน 2 ใบ บรรจุไข่สีทองจำนวน 35 ใบ และสีน้ำเงินจำนวน 8 ใบ

ก่อนหน้านี้ การประชุมจัดสรรโควตาประธานคณะกรรมาธิการมาถกกันมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้ข้อยุติ ประเด็นถกเถียงมี 2 เรื่องหลัก คือ จำนวนเก้าอี้ที่พรรคก้าวไกลจะได้ เป็น 10 หรือ 11 ที่นั่ง เนื่องจากการจัดสรรโควตาจะคำนวนจากจำนวน สส. ที่แต่ละพรรคได้รับหลังเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลเพิ่งได้ สส.ระยอง มาจากการเลือกตั้งซ่อมอีก 1 ท่าน คำนวนแล้วทำให้ต้องได้ 11 ที่นั่ง แต่มีกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงมีการแย้งว่าควรเหลือ 10 ที่นั่ง เมื่อปรึกษาฝ่ายกฎหมาย มีความเห็นว่า นายพิธา ยังคงเป็น สส. อยู่ จึงต้องนำมาคำนวนสัดส่วนโควตาด้วย จึงได้ข้อสรุปว่าพรรคก้าวไกลจะได้ 11 ที่นั่ง

อีก 1 ข้อถกเถียง คือ พรรคก้าวไกลต้องการเป็นประธาน คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ เช่น กมธ.ติดตามงบประมาณ และ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือจะเรียกชื่อเล่นว่า ป.ป.ช. ภาคสภา แต่ กมธ.ทั้ง 2 คณะ ดังกล่าว พรรคเพื่อไทยต้องการเช่นกัน

ขณะที่ กมธ.กระจายอำนาจ และ กมธ.แรงงาน ทางพรรคก้าวไกลก็อยากได้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่พรรคอยากผลักดัน แต่พรรคภูมิใจไทยก็อยากได้ด้วย ไม่มีพรรคไหนถอย ทำให้เกิดความยืดเยื้อในการตั้งคณะกรรมาธิการ จนทำให้นายพิเชษฐ์ ต้องเอาโถไข่มาวางขู่ คุยกันไม่ได้ก็ล้วงไข่ลุ้นเอา

การพูดคุยดำเนินไปกว่า 2 ชั่วโมง ในที่สุดก็จบลงได้ โดยพรรคก้าวไกลก็ยอมถอยด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมาธิการเริ่มต้นขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีคำตัดพ้อตามมาจาก นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่บอกว่า น่าเสียดายที่รัฐบาลพลเรือนชุดแรก หลังรัฐประหาร ไม่ปล่อยพื้นที่ตรงนี้ให้ฝ่ายค้านได้ตรวจสอบ กลายเป็นว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังมีความใจกว้างมากกว่าอีก 

พรรคก้าวไกล ได้ 11 คณะ ที่สมหวัง คือ ได้ กมธ.ติดตามงบประมาณ ตามที่ตั้งใจ ส่วน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ก็ยังอยู่ คณะนี้ หมออ๋อง รองประธานสภาคนที่ 1 เคยเป็นประธาน เช่นเดียวกับ กมธ.ที่ดิน ที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญมาตลอด ซึ่ง นายพิธา เคยเป็นประธาน กมธ.นี้ ในสมัยพรรคอนาคตใหม่

พรรคเพื่อไทย ได้ไป 10 คณะ และช่วงชิง กมธ.ป.ป.ช. มาได้ นอกจากนี้ สังเกตได้ว่า พรรคฝั่งรัฐบาลจะเลือกเป็นประธาน กมธ. ในคณะที่พรรคของตนมีรัฐมนตรี เช่น ภูมิใจไทย เลือก กมธ.การศึกษา และ กมธ.การกระจายอำนาจ ซึ่งเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ส่วนพรรคพลังประชารัฐ เลือก กมธ.เกษตร หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ เลือกพลังงาน เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark