ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

อายุน้อยก็เสี่ยง "หมออารักษ์" เตือนโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง รักษาไม่ทันพิการ-เสียชีวิต


หมออารักษ์ เตือนอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง รักษาไม่ทันพิการ-เสียชีวิตทันที ยกเคสผู้ป่วยอายุ 32 ปี ปวดหัวจนอาเจียน แขนขาอ่อนแรง ความดันสูงมาก 200/120 อายุน้อย ไม่คิดว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง เอกซเรย์สมองเส้นเลือดปริแตก ต้องผ่าตัดด่วน

เส้นเลือดสมองโป่งพอง วันนี้ (27 ก.ย.66) นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เตือนอันตรายถึงโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่มากับอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ทำให้พิการ เสียชีวิต ได้ทันที หากรักษาไม่ทันท่วงที พร้อมยกเคสผู้ป่วยในการดูแลรักษษของทีมโรงพยาบาลประจวบฯ เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 32 ปี น้ำหนักประมาณ 170 กิโลกรัม ญาติให้ประวัติว่าขณะนั่งรับประทานอาหารเช้า มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงทันทีทันใด เหมือนมีอะไรเข้าไปอยู่ในศีรษะ พูดจาสับสน ซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง จนต้องล้มตัวลงนอนกับพื้น

“ญาติที่นั่งอยู่ด้วยตกใจอย่างมาก รีบช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการ บีบนวดตามแขนขา ผู้ป่วยเริ่มไม่พูด เอามือกุมศีรษะตลอดเวลา  จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลาเดินทาง 40 นาที แพทย์ห้องฉุกเฉินประเมินอาการเบื้องต้น สงสัยมีภาวะผิดปกติทางสมอง วัดความดันโลหิตสูงมาก 200/120 mmhg ไม่เคยมีประวัติการรักษามาก่อน เพราะคิดว่าอายุน้อย คงไม่มีโรคความดันโลหิตสูง แพทย์ให้การดูแลเบื้องต้น ให้ยาลดความดัน ช่วยการหายใจ ส่งเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง ทันที”

หมออารักษ์ เปิดเผยด้วยว่า จากภาพเอกซเรย์ พบว่ามีเส้นเลือดในสมองโป่งพอง เส้นเลือดปริแตก มีเลือดกระจายไปสู่เนื้อสมอง ขยายเป็นวง รอบเส้นเลือดที่แตก ปรึกษา ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง เตรียมการผ่าตัดในทันที ก่อนที่เลือดออกในเนื้อสมองมากขึ้น จะส่งผลให้เนื้อสมองขาดเลือดเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้

“ภายในเวลา 30 นาที ต่อมา ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ แพทย์ใช้เทคนิคการผ่าตัด ใส่เครื่องมือเข้าไปในจุดที่เส้นเลือดโป่งพองแตก ใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (clipping) เป็นวิธีการห้ามไม่ให้มีเลือดผ่านเข้าไปบริเวณที่มีการโป่งพองอีก การผ่าตัดสมองต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน การผ่าตัดสำเร็จด้วยดี”
 
หมออารักษ์ เผยว่า หลังผ่าตัดติดตามอาการ ใน 24ชั่วโมง ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ทำตามสั่งได้ ไม่สับสน ไม่มีอาการอ่อนแรง นับเป็นการรักษาที่ประสบความสำเร็จ ด้วยความพร้อมของทีม มีเครื่องมือที่เพียงพอ การจัดการของทีมได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยไม่ชักช้า

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark