ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

15 แรงงานไทยชุดแรก กลับสู่อ้อมกอดครอบครัว

เช้านี้ที่หมอชิต - เข้าสู่วันที่ 7 หลังกลุ่มฮามาส บุกโจมตีอิสราเอล เมื่อวานนี้ (12 ต.ค.) คนไทยชุดแรกได้อพยพออกจากอิสราเอล จำนวน 15 คน เดินทางมาถึงประเทศไทยช่วงเที่ยงวานนี้ โดยคนไทยส่วนหนึ่งที่กลับมาเป็นผู้บาดเจ็บที่รอดชีวิตจากการถูกโจมตี

15 แรงงานไทยชุดแรก กลับสู่อ้อมกอดครอบครัว
คนไทยชุดแรก 15 คน เดินทางด้วยเครื่องบินของสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ ออกจากกรุงเทลอาวีฟ ช่วงค่ำวันที่ 11 ตุลาคม และมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงเที่ยงเมื่อวานนี้ โดยมีญาติ ๆ ทั้ง 15 คนมารอรับ

เมื่อมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ได้นำแรงงานไทยทั้ง 15 คน ซึ่งมี 2 คนที่บาดเจ็บ ต้องนั่งรถวีลแชร์ ออกมายังจุดที่ญาติมารอรับ โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มาร่วมต้อนรับแรงงานไทยทั้ง 15 คน กลับบ้าน

นายกรัชกร พุทธสอน หนึ่งในคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่หัวเข่าซ้าย บอกว่า ดีใจมากที่รัฐบาลช่วยให้ผู้บาดเจ็บได้กลับมาชุดแรก พร้อมเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า ตอนเช้ามีการสู้รบกันรุนแรง นายจ้างจึงพาหนีไปหลบที่บ้านนายจ้าง พอตอนเที่ยงนายจ้างบอกว่าเหตุการณ์สงบแล้ว จึงพากลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้า กินข้าว มีคนบนรถ 7-8 คน ระหว่างทางถูกกลุ่มฮามาสโจมตี ตนโดนยิงที่หัวเข่า จึงบอกให้นายจ้างรีบขับรถหนี แต่กลุ่มฮามาส ยังไล่ยิงไม่หยุด มีคนโดนยิง 4 คน ตอนนั้นไม่คิดว่าจะรอดชีวิตกลับมา

แรงงานไทย บอกว่า ตอนนี้ศพของคนไทยและชาติอื่น ๆ ที่เสียชีวิต ยังถูกเก็บไว้ในห้องเย็น ยังไม่เคลื่อนย้ายออกมา เพื่อรอการพิสูจน์ตัวตน เพราะตอนเกิดเหตุไม่มีใครพกพาสปอร์ต หรือ บัตรประจำตัวออกมาด้วย

รมว.แรงงาน แจงเงินเยียวยาให้แรงงานไทยเจ็บ-เสียชีวิต
ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า มีคนไทยที่บาดเจ็บเดินทางมาชุดแรก 4 คน ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือ ทางรัฐบาลอิสราเอล จะดูแล ถ้าได้รับบาดเจ็บเกินกว่า 10% แต่ไม่เกิน 19% จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลอิสราเอลครั้งเดียว ประมาณ 1.4 ล้านบาท ถ้าบาดเจ็บเกินกว่า 20% จะดูแลตลอดชีวิต

ส่วนผู้เสียชีวิต ยังไม่แน่ใจว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งทางการอิสราเอลก็จะดูแลเยียวยาเช่นกัน แต่ไม่มีเงินก้อนให้ จะเยียวยาภรรยาและบุตร เดือนละประมาณ 30,000 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ภรรยาจะได้เงินตลอดระยะเวลาที่ยังไม่แต่งงานใหม่ ส่วนบุตรจะดูแลจนกระทั่งอายุ 18 ปี ให้เงินเดือนประมาณ 10,000-15,000 บาท ทางกระทรวงแรงงาน ได้ประสานรัฐบาลอิสราเอลให้เข้าใจตรงกันในส่วนนี้

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงแรงงานไทย คนที่ไปทำงาน หากเสียชีวิตจะให้เงินเยียวยา 40,000 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 15,000 บาท ส่วนค่าทำศพ 40,000 บาท ส่วนที่เหลือรัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้อีกบ้าง

ส่งต่อ 15 แรงงานไทยเข้าตรวจร่างกายที่สถาบันบำราศนราดูร
ต่อมาคนไทยทั้ง 15 คน ได้เดินทางไปที่อาคารกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี ตามขั้นตอนการกักกันโรค โดยในส่วนของผู้บาดเจ็บที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ 2 คน คือ นายกรัชกร พุทธสอน ชาวจังหวัดพะเยา มีแผลถูกยิงที่หัวเข่า และ นายสมมา แซ่จ๊ะ ชาวจังหวัดตาก มีแผลถูกยิงที่ขา 2 คนนี้ กรมสุขภาพจิตจะคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้น และส่งไปตรวจเอกซเรย์บาดแผลว่ายังมีกระสุนหลงเหลืออยู่ในแผลหรือไม่ และจะทำการรักษาต่อไป

3 สายการบินพร้อมบินรับคนไทยในอิสราเอล
ในขณะที่การอพยพคนไทยที่ยังติดค้างอยู่ในอิสราเอล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย และสายการบิน เพื่อสรุปแผนอพยพคนไทย เกือบ 6,000 คน ออกจากอิสราเอล เบื้องต้นมีสายการบินของไทย 3 สายการบิน คือ แอร์เอเชีย, การบินไทย และนกแอร์ ที่พร้อมบินไปรับคนไทยกลับประเทศ สามารถพร้อมปฏิบัติการได้ภายใน 3 วัน เมื่อมีการกำหนดแผนและสนามบินที่จะใช้เป็นจุดรับคนไทยเป็นที่ชัดเจนแล้ว

นายกฯ เสียใจ คนไทยตายเพิ่มอีก 1 รวมเสียชีวิต 21 ราย
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางจากประเทศมาเลเซีย ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ ว่า ได้รับรายงานเพิ่มเติมเมื่อคืนวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า มีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 21 ราย โดยรัฐบาลเร่งหาทางอพยพคนไทยที่เหลือ นอกจากนำเครื่องบินเข้าไปรับแล้ว กำลังพิจารณาการอพยพในแนวทางอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งทางเรือ และทางรถยนต์

โดยข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ล่าสุดเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล มีคนไทยเสียชีวิต 21 ราย ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย ผู้ถูกควบคุมตัว 16 ราย และคนลงทะเบียนแสดงความจำนงกลับไทย 5,990 คน

จากนั้นช่วงเย็นที่ผ่านมา ทันทีที่นายกฯ เดินทางกลับจากสิงคโปร์และถึงไทยเวลา 16.30 น. ก็ได้เดินทางไปกระทรวงการต่างประเทศทันที เพื่อประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล หรือ Rapid Response Center : RRC

นายกฯ ประชุมด่วนวางแผนอพยพ-ช่วยคนไทยหนีสงคราม
นายกฯ แถลงหลังประชุมว่า มีคนไทยแสดงเจตจำนงกลับประเทศประมาณ 6,000 คน ส่วนการส่งกลับได้หารือกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ นำเครื่อง C-130 และแอร์บัส A 340 บินเข้าไป เริ่มเที่ยวแรก 14 ตุลาคม แต่ได้สั่งการไปว่าลำเดียวไม่พอ จึงขอความร่วมมือสายการบินพาณิชย์ร่วมสนับสนุน ประกอบด้วยนกแอร์ 2 ลำ, แอร์เอเชีย 2 ลำ และการบินไทย (ยังไม่ระบุจำนวนลำ) โดยจะบินผ่านน่านฟ้า 10 ประเทศ และต้องเจรจาขอบินผ่านน่านฟ้า ซึ่งปกติใช้เวลานานเป็นเดือน แต่จะเร่งให้เร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมง

ส่วนแผนปฏิบัติการขนย้ายทางบก รัฐบาลกำลังพิจารณา แต่มีปัญหาใหญ่เพราะต้องผ่านดินแดนกาซา จึงไม่สามารถผ่านออกมาได้ ส่วนทางเรือก็กำลังพิจารณา แต่ต้องเดินทางโดยรถออกมาก่อนเช่นกัน ส่วนการเจรจาปล่อยตัวประกันแรงงานไทย นายกฯ บอกว่า มีความพยายามทุกช่องทางที่ทำได้ แต่เป็นเรื่องความมั่นคงขออนุญาตไม่เผยแพร่

ส่วนการหารือกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทยในเวลา 08.45 น. วันนี้ (13 ต.ค.) นายกฯ บอกว่า จะต้องขอความเห็นใจ และพูดคุยความต้องการของไทย ทั้งการลำเลียงศพ, การเจรจาเรื่องตัวประกัน, การลำเลียงคนไทยไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัย และไปถึงสนามบินให้เร็วที่สุด รวมถึงการเปิดน่านฟ้า และกรณีแรงงานไทยในพื้นที่สีแดงถูกนายจ้างบังคับทำงาน

ล่าสุดเวลาประมาณ 22.00 น. นายกฯ โพสต์สรุปแผนอพยพคนไทย โดยจะส่ง Airbus A340 บินไปอิสราเอล วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งจะนำเสบียงเข้าไป และนำคนไทย 135 คน กลับมา พร้อมขอความร่วมมือสายการบินเอกชนเตรียมเครื่องให้พร้อม โดยรัฐบาลจะระดมเครื่องบินไปจอดในที่ที่พร้อมเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้รองรับความต้องการกลับไทยให้ได้มากที่สุด โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเทล อาวีฟ รายงานว่า พร้อมอำนวยความสะดวกให้คนไทยกลับได้สูงสุด 100-200 คนต่อวัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark