ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

คืน 21 ตุลาคม นี้ ชวนดู ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เศษฝุ่นจาก "ดาวหางฮัลเลย์"

ฝนดาวตก เศษฝุ่นดาวหางฮัลเลย์
 
จากบทเพลง ดาวหางฮัลเลย์ ของวง fellow fellow "อยากเป็นคนที่ได้นอนดูดาวข้างเธออีกหมื่นวัน และเอนไปจุมพิตเธอสักล้านครั้ง อยู่กับฉันไปนานๆ นะเธอ"

คืนวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เตรียมพบกับฝนดาวตกจากเศษฝุ่นดาวหางฮัลเลย์  ก่อนได้เจอดาวหางฮัลเลย์อีก 38 ปีข้างหน้า

โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนชมฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เศษหินและฝุ่นจากดาวหางฮัลเลย์ ที่เมื่อโลกจะโคจรตัดผ่าน แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงเอาเศษหินและฝุ่นเหล่านี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดการเผาไหม้เป็นดาวตก เป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตก “โอไรออนิดส์ (Orionids)” จะเกิดขึ้นประจำในช่วงเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปี โดยในปี 2023 นี้ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดตรงกับคืนวันที่ 21 ตุลาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 22.30 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก คาดปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง 

โดยดาวหางฮัลเลย์โคจรเข้ามาเฉียดดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อปีเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 และจากการคำนวณคาดว่า ครั้งถัดไปดาวหางจะเฉียดดวงอาทิตย์ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2061 ดังนั้น ในอีก 38 ปีข้างหน้า เราก็น่าจะได้เห็นหนึ่งในดาวหางที่สวยงามและสว่างที่สุด กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าให้พวกเราได้ชื่นชมกันอีกครั้ง

ถึงแม้ว่าดาวหางฮัลเลย์จะโคจรมาให้ได้ยลโฉมในทุก ๆ 76 ปี แต่ทุก ๆ ครั้งที่เคลื่อนที่เข้ามา รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางสูญเสียมวลของตัวเองไปเรื่อย ๆ และมีขนาดเล็กลง 1-3 เมตรในแต่ละรอบ จนในที่สุดเมื่อมวลสารส่วนที่เป็นน้ำแข็งสลายตัวจนหมดไป ดาวหางฮัลเลย์ก็จะไม่ได้มีหางที่สวยงามเหมือนที่เคยเห็นในอดีต กลายเป็นเพียงก้อนหินมืดดำในอวกาศ หรืออาจแตกสลายกลายเป็นเศษฝุ่นที่ยังคงโคจรอยู่รอบ ๆ ดวงอาทิตย์ต่อไปเพียงเท่านั้น

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark