ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

สุทิน-เศรษฐา ประสานเสียง ไทยไม่เสียเปรียบ ซื้อเรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำ

เช้านี้ที่หมอชิต - มหากาพย์เรือดำน้ำจีนจะไปต่อทางไหน เมื่อบิ๊กทินบอกว่า "จีนไม่ได้ผิดสัญญา แต่ไม่ทำตามข้อตกลง" ปมขอเปลี่ยนเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต ทำให้หลายฝ่ายมองอ่อนให้จีนไปหรือเปล่า เพราะเราไม่ใช่คนทำผิดสัญญา ขณะที่ทาง "ก้าวไกล" กัดไม่ปล่อย "วิโรจน์" ในฐานะ ประธาน กมธ.ทหาร เตรียมเรียกหน่วยงานแจงพฤหัสนี้

จากกรณีที่จีนไม่สามารถหาเครื่องยนตร์เรือดำน้ำจากเยอรมันมาให้ไทยตามสัญญาได้ แม้ไทยจะจ่ายมัดจำไปแล้วถึง 7,000 ล้านบาท ทำสัญญากันในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ เรื่องนี้จึงคาราคาซังสืบเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน หากจำกันได้เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยให้ความมั่นใจก่อนถวายสัตย์รับตำแหน่งว่า "เรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ มีคำตอบอยู่ในใจแล้วและดีด้วย คำว่าดีคือ กองทัพพอใจ ประชาชนและสังคมยอมรับ และมีเหตุผลอธิบายได้"

แต่จะเป็นไปตามนั้นจริงหรือเปล่า เมื่อมาฟังคำตอบในวันนี้ หลายคนบอกว่าเริ่มแปร่ง ๆ โดยเฉพาะท่าทีล่าสุดที่ออกมายอมรับว่า จากการจัดหาเรือดำน้ำจะถูกเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตแทนมีความไปได้ ทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่า "ไม่ได้มองว่าจีนผิดสัญญา แต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงมากกว่า เพราะเป็นเรื่องของจีทูจี ประเทศไทยมีมิติของความเป็นมิตรประเทศ ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ที่จะต้องมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ใช่ดำเนินการซื้อขายอย่างเดียว" ต้องชั่งน้ำหนักกัน ระหว่างการเดินหน้าต่อเอาเครื่องยนต์จากจีน กับการต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น มีได้มีเสียเหมือนกัน ยืนยันว่า เราคิดรอบคอบในทุกมิติแล้ว

ต่อมา สำทับด้วยความเห็น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยจะไม่เสียเปรียบในเรื่องนี้ แต่ขอให้เกียรติกระทรวงกลาโหมไปทำงานก่อน หลังตนไปเจรจามาแล้ว ซึ่งบรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยดี

ขณะที่ท่าทีจากกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลออกมาแบบนี้ ก็มีความเห็นแย้งออกมาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต ไทยอาจต้องเสียเงินเติมไปอีก 7,000 ล้านบาท ตามที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือหากต้องการซื้อเรือฟริเกตลำใหม่จริง ก็ควรเป็นการเทียบราคากับเจ้าอื่นที่อาจให้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่านี้ ไม่ใช่ยอมรับการขอเปลี่ยนจากจีน

ในเรื่องนี้ แม้แต่คนกันเอง อย่าง พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ก็ยังตั้งคำถามต่อกรณีนี้ โดยกล่าวว่า รัฐบาลต้องมีความชัดเจนต่อสังคมว่า ใคร เป็นผู้กระทำผิดสัญญา แต่โดยมาตรฐานทั่วไปหากจีนเป็นผู้ผิดก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายไทย โดยคืนเงิน 7,000 ล้านบาท ที่ฝ่ายไทยจ่ายไปล่วงหน้า หรือแปลงเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์หรือสินค้าอื่นชดเชยก็ได้ในวงเงินเดียวกัน แต่การขอเปลี่ยนเป็นจัดหาเรือฟริเกตแทน ดูไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายไทย และเป็นแนวอ่อนข้อให้กับทางจีน

เชื่อว่า หากเป็นรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ก็คงใช้แนวทางนี้เพราะทีมมันสมองฝ่ายเสนาธิการที่เสนอล้วน ยังคงเป็นคนของรัฐบาลประยุทธ์ ปรากฏการณ์เรือรบอับปาง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำล้วนเป็นเรื่องน่าอดสูที่ก่อเกิดมาจากยุครัฐบาลประยุทธ์ทั้งสิ้น เป็นรัฐบาลที่มีรากเหง้ามาจากการรัฐประหาร สร้างวัฒนธรรมตระบัดสัตย์มาบริหารประเทศ ไม่เคยพัฒนาสร้างกองทัพเป็นทหารอาชีพ ประชาชนจึงไม่ศรัทธาให้กลับมาบริหารประเทศอีก แต่ก็ยังใช้อุบายตระบัดสัตย์สร้างรัฐบาลข้ามขั้วขึ้น เพื่อเป็นการกลับเข้ามาครอบงำงานความมั่นคง มิให้รัฐบาลใหม่มารื้อฟื้นความเฮงซวยที่พวกตนได้กระทำไว้รัฐบาลที่มาจากการโกหกประชาชนมันอยู่ได้ไม่นานหรอก 

ขณะที่ทางฝ่ายค้านก็มีความเคลื่อนไหว โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการการทหารเตรียมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาขี้แจงในวันพฤหัสที่ 26 ตุลาคมนี้ เวลา 13.30 น.

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark