ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ข่าวใหญ่ : จุดเปลี่ยนเงินดิจิทัลวอลเล็ต กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง งานหินรัฐบาลเศรษฐา

ห้องข่าวภาคเที่ยง - ข่าวใหญ่ต้องขยี้กันต่อ วันนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน โดยเฉพาะคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป เคยตั้งความหวังได้เงิน 1 หมื่นบาท จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ รัฐบาลเศรษฐา ประกาศไว้ ต้องบอกว่าเตรียมทำใจกันหน่อย เพราะโครงการนี้ถือว่ามาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญแล้ว

จุดเปลี่ยนเงินดิจิทัลวอลเล็ต กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง งานหินรัฐบาลเศรษฐา
เริ่มแรกคุณผู้ชมจำกันได้ใช่ไหม แจกแน่ ๆ 1 หมื่นบาท รอบเดียวจบ ครบทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่ต้องแบ่งแยกยากดี มีจน ได้หมดแบบถ้วนหน้า แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะถูกติดดิสเบรกจากหลายฝ่าย เพราะแจกหว่านแหโดยไม่มีวิกฤตแบบนี้ มันจะกระทบสถานการณ์การเงินการคลัง สุดท้ายไม่พ้นประเทศเป็นหนี้ เนื่องจากลำพังรายได้ประเทศไม่พอแน่ ๆ ยิ่งบอกว่าจะจ่ายรวดเดียวจบก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ และที่บอกว่าจ่ายเงินให้ได้ไตรมาสแรกของปีหน้า ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะทำอย่างนั้น สุดท้ายทุกเสียงที่ทักท้วงต้องบอกว่าถูกทุกข้อ รัฐบาลไปต่อตามที่วางแผนแรกไว้ไม่ได้จริง ๆ

เงินดิจิทัลฯ ส่อเลื่อน จ่อปรับเกณฑ์ ตัดสิทธิคนมีเงิน
เมื่อไปต่อไม่ได้ เดินหน้าไม่ไหว ก็ต้องมาปรับโครงการใหม่ เมื่อวานนี้ มีบทสรุปจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในการกำหนดกลุ่มผู้ที่จะได้รับสิทธิ ซึ่งต้องการให้ตัดกลุ่มคนรวยออกมาแล้ว แต่ในที่ประชุมก็ยังเห็นไม่ตรงกัน ต้องวางกรอบไว้ 3 แนวทาง เพื่อให้บอร์ดชุดใหญ่เป็นคนเคาะ

วาง 3 กลุ่มเป้าหมายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
1. จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

2. พิจารณาให้ตัดกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางสังคม มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

3. พิจารณาตัดผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

อีกเรื่องที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้คือ แหล่งเงิน แต่ยังยืนยันใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก โดยตั้งระยะเวลาโครงการเงินดิจิทัลไว้ราว 4 ปี ใช้เงินงบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท จะส่งผลให้ร้านค้าในโครงการก็จะเบิกเงินไม่ได้ทันที และยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับร้านค้าที่จะเข้าโครงการด้วยว่า ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนอยู่ในระบบภาษีทั้ง 3 ประเภท ไล่ตั้งแต่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา

สำหรับการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นของโครงการที่จะใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นั้นอาจจะให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ดำเนินการได้ล่าช้าไป 8 เดือนตามปฏิทินงบประมาณที่จะต้องเริ่มเดือนตุลาคม 2566 จึงเป็นไปได้ว่าโครงการเติมเงินดิจิทัล จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปีหน้า

ส่วนแหล่งเงินอื่นนอกงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้หรือเงินนอกงบประมาณ จะเป็นทางเลือกสุดท้าย พร้อมตัดธนาคารออมสิน ออกจากตัวเลือกที่จะเป็นแหล่งเงินของโครงการด้วย เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย

สำหรับเรื่องเกณฑ์รัศมีการใช้จ่ายก็จะปรับจาก 4 กิโลเมตร เป็นระดับอำเภอ และให้ ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม และมีแพลตฟอร์มในการรองรับ

ดูจากตรงนี้จะเห็นว่าตอนนี้รูปแบบโครงการดิจิทัลวอลเลต เปลี่ยนไปหมดเลย แจกถ้วนหน้าให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่เคยยืนยันหนักแน่น คิดมาดีแล้ว รอบคอบ ทำได้แน่ ดูเหมือนจะไปต่อไม่ไหว และเงินที่เคยเล็งจะขอหยิบ ขอยืมจาก ธนาคารออมสิน มาก่อน ก็ต้องพับไป เพราะขัดกฎหมาย แถมงบประมาณที่เคยแจ้งไว้กับ กกต. ใช้งบประมาณปกติ จะไปปรับลดโน่น นี่ นั่น สุดท้ายใช้งบฯ ไม่จบในปีเดียวต้องผูกพันไป 4 ปี ปีละ 1 แสนล้านบาท เบิกงบได้แบบขยักขย่อนแบบนี้ แน่นอนเงินที่จ่ายก็กลายเป็นเงินในอากาศ ไม่ได้กำเงินสดในทันทีเสียแล้ว สำหรับบรรดาร้านค้ากว่าจะได้เงินต้องรอ ก็เลยทำให้มีความกังวลตามมาอีกว่า แล้วร้านค้าจะเข้าโครงการหรือ แถมทุกร้านต้องอยู่ในระบบภาษีของกรมสรรพากรด้วย

ศิริกัญญา ชี้ บทเรียนเพื่อไทย ส่อพับโครงการเงินดิจิทัลฯ
ก็เลยเกิดคำถามอีกว่า แล้วมันจะตรงกับวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ ยอมรับความจริงไปดีกว่าไหมว่า ไปต่อไม่ไหวแล้ว ซึ่ง นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกเลยว่า นี่คือบทเรียนครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทย

ติดขัดปัญหามากขนาดนี้ ก็ทำให้ชัดเจนแล้วว่า หากทำต่อจริงก็ไม่น่าจะทัน 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า แต่จะเลื่อนไปอีกราว 2-3 เดือน คือ กว่าจะได้ใช้เงินก็เมษายน-พฤษภาคม แต่ทั้งหมดก็ยังต้องรอบอร์ดชุดใหญ่ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้เคาะกำหนดออกมาในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า

มุมมองประชาชน หลังรัฐบาลจ่อปรับเกณฑ์แจกเงินดิจิทัลฯ
ทีนี้เรามาดูความเห็นของประชาชนกันหน่อย โครงการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ นอกจากเลื่อนกำหนดแล้วยังต้องลุ้นด้วยซ้ำว่า สุดท้ายจะไปต่อหรือต้องพอแค่นี้

ถ้าโครงการนี้ไปต่อไม่ได้ ก็มีคำถามตามมาอีกว่า แล้ว พรรคเพื่อไทย ต้องรับผิดชอบอะไรกับนโยบายที่หาเสียงไว้แต่ทำไม่ได้หรือไม่ จะมีใครไปไล่เช็กบิลส่งเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลเพื่อไทย คงพยายามไปต่อให้ได้ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเสียหายทางการเมือง เสียแบรนด์ที่ขายมาตลอดว่า หาเสียงไว้ ทำได้ และย่อมส่งผลกระทบไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark